รองปลัด มท.ถก พชอ. -พชข. ร่วม สธ.กำหนดเป้าดำเนินงานปี 64-65
26 ก.พ. 2564, 12:49
วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2564) เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมราชสีห์ ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายจาก นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน การประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ ครั้งที่ 1/2564 โดยมี นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุม พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับอำเภอ (พชอ.) คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับเขต (พชข.) รวมทั้งร่วมกันกำหนดเป้าหมายและทิศทางการขับเคลื่อน พชอ. และ พชข. ปี 2564-2565
นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ พ.ศ. 2561 กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่” ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษา ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ และปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธานกรรมการ ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) เป็นที่น่าชื่นชมว่าคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน “เฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกัน” การแพร่ระบาดในระดับพื้นที่ด้วยกลไกการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) โดย ศบค.อำเภอ ร่วมกับ นายอำเภอ ในฐานะประธาน พชอ. ระดมสรรพกำลังและทรัพยากรจากทุกภาคส่วน เฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกัน COVID-19 ผ่านมาตรการต่างๆ จนประสบความสำเร็จและสามารถสร้างสุขภาวะให้ชุมชนมีภูมิต้านทานที่เข้มแข็ง ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดฯ พร้อมกันนี้จากผลการดำเนินงานในประเด็นการขับเคลื่อน พชอ. ประจำปี 2563 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย นั้น พบว่า มีการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาตามบริบทของพื้นที่ จำนวน 1,026 ประเด็น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 983 ประเด็น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบรมวงศานุวงศ์ จำนวน 554 ประเด็น โครงการตามแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 523 ประเด็น การดูแลเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มเปราะบาง จำนวน 468 ประเด็น การป้องกันอุบัติภัยทางถนน จำนวน 417 ประเด็น และการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการไทยนิยม ยั่งยืน จำนวน 327 ประเด็น ซึ่งสิ่งนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า กลไก พชอ. เป็นกลไกที่มีความสำคัญ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนในพื้นที่ และในระดับชาติด้วย
ด้าน นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการดําเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอําเภอ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 นั้น ได้มีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอําเภอ (พชอ.) ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ พ.ศ. 2561 ครบทุกอำเภอ ครอบคลุมทั้งประเทศ จํานวน 878 อําเภอ และ 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจากการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมีสวนร่วมของ พชอ. ครบทุกอําเภอ อย่างน้อยอำเภอละ 2 ประเด็น พบว่า มีการดําเนินงานรวมทั้งสิ้น 2,706 โครงการ โดยมีประเด็นการขับเคลื่อน ดังนี้ 1. การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม จํานวน 554 อําเภอ 2. ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ยากไร้และผู้เปราะบาง จํานวน 502 อําเภอ 3. อุบัติเหตุ จํานวน 479 อําเภอ 4. อาหารปลอดภัย เกษตรปลอดสารเคมี จํานวน 264 อําเภอ 5. แม่และเด็ก พัฒนาการเด็ก และวัยรุ่น จํานวน 232 อําเภอ 6. โรคติดต่อ จำนวน 180 อำเภอ 7. โรคไม่ติดต่อ (Non-communicable diseases หรือ NCDs) จำนวน 170 อำเภอ และ 8. ยาเสพติด จำนวน 164 อำเภอ ซึ่งเป็นการบูรณาการและระดมทรัพยากร บุคลากร งบประมาณ และภารกิจ ภายใต้อํานาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานของรัฐที่มีอยู่ในอำเภอ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตามความเหมาะสมกับสภาพข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาในพื้นที่
จากนั้น ที่ประชุมได้มีการหารือเสนอปรับเป้าหมายการดำเนินงาน พชอ. และ พชข. ปี 2564-2565 โดยกำหนดให้มีนโยบาย 7 ข้อสำคัญ ดังนี้ 1. โครงการพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 2. โครงการพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เช่น โครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” 3. โครงการในพระบรมวงศานุวงศ์ 4. การดูแล เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้เปราะบาง 5. การดูแลประชาชนจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 6. การป้องกันอุบัติภัยทางถนน และ 7. การพัฒนาและแก้ปัญหาตามบริบทพื้นที่ ภายใต้การบูรณาการการดำเนินงานของ พชอ. และ พชข. ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นต้น พร้อมยกระดับการขับเคลื่อน พชอ. โดยจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับจังหวัด (พชจ.) ขึ้น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และให้มีการปรับเปลี่ยนอนุกรรมการ จากเดิม 3 คณะ คือ 1. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ 2. คณะอนุกรรมการการติดตามประเมินผลและเสริมพลังการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ และ 3. คณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ โดยให้แต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ (พชอ./พชข.) เพียงคณะเดียว เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน และบูรณาการ ตลอดจนลดความซ้ำซ้อนในตัวบุคคลผู้ทำงานในแต่ละคณะด้วย