เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



พระเมธีธรรมาจารย์ เผยแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์ในสถานการณ์ปัจจุบัน


26 ก.พ. 2564, 15:23



พระเมธีธรรมาจารย์ เผยแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์ในสถานการณ์ปัจจุบัน




วันนี้ (26 ก.พ. 2564) พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก "พระเมธีธรรมาจารย์ - เจ้าคุณประสาร" ระบุว่า มหาวิทยาลัยของไทยในปัจจุบันกำลังประสบปัญหามากมายทั้งในแง่ทรัพยากรบุคคล ประชากร งบประมาณ เทคโนโลยี นวัตกรรม วิจัย และสถานการณ์เฉพาะหน้า
            
สำหรับมหาวิทยาลัยสงฆ์ในประเทศไทยมี 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สถาปนาเมื่อปี พ.ศ. 2430 เพื่อศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง(อุดมศึกษา) และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2436 เพื่อการศึกษาของพระภิกษุสามเณร
            
ทั้งสองมหาวิทยาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาขึ้นเพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ทั้ง 2 นิกาย โดย มหาจุฬาฯ หรือ มจร ในฝ่ายมหานิกายนั้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน ส่วนมหามกุฏฯ หรือ มมร ในฝ่ายธรรมยุติกนิกายนั้นเพื่ออนุสรณ์แก่พระราชบิดา



เมื่อคราวที่พระปิยมหาราช ทรงปกครองบ้านเมืองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute monarchy) นั้นพระองค์มีพราราชภารกิจที่สำคัญ 3 ประการคือ 
            
1.ปกครองไพร่ฟ้าประชาชนให้อยู่ดี มีสุข
            
2.พัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า
            
3. ทำทุบำรุงและอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น
          
ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงสนพระทัยและพยายามทุกวิถีทางที่จะพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศ ทรงเสด็จประภาสยุโรปหลายครั้งหลายคราเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี ให้ฝรั่งมังค่าเห็นว่าสยามประเทศนั้นไม่ได้ล้าหลัง ป่าเถื่อน นอกจากนั้นยังเป็นจิตวิทยา เป็นการทำแบบทำเนียมฝรั่ง รักษาดินแดนและดูบ้านดูเมืองเขาเพื่อกลับมาพัฒนาประเทศของตน
            
ในยุคสมัยของพระองค์จะเห็นได้ว่าสยามประเทศนั้นได้พัฒนาไปมากทั้งด้านการศึกษา การทหาร สาธารณสุข สาธารณูปโภคและอื่นๆอีกมากมาย
            
เมื่อพัฒนาประเทศให้เจริญรุดหน้าแล้วพระองค์ก็ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกล (จกฺขุมา) ว่าแล้วคณะสงฆ์จะอยู่อย่างไร การศึกษาสงฆ์จะพัฒนาไปได้อย่างไร จะช่วยกันสืบทอดพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองและมั่นคงได้อย่างไร พระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระองค์ว่า "เมื่อข้าพเจ้าได้ดำรงสิริราชสมบัติแล้วก็ตั้งใจทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและทำนุบำรุงพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงอยู่เป็นนิจ" ดังนั้นพระองค์จึงมีลายพระราชหัตถเลขา ในการสถาปนามหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งด้วยพระองค์เอง
           
ในรอบศตวรรษที่ผ่านมามหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เพราะกฎหมายหรือพระราชบัญญัติสมัยพระองค์ที่ทรงร่างไว้นั้นยังไม่ทันประกาศใช้ เป็นกฎหมายการบริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ทันสมัย เหมาะสมและจะช่วยการศึกษาสงฆ์ให้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและทั่วโลก และนอกจากนั้นพระองค์ยังทรงพระราชอุทิศอาคารสังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัย (ตึกถาวรวัตถุหรือตึกแดงภายในวัดมหาธาตุด้านสนามหลวง)ถวายเป็นอาคารเรียนของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
            
พ.ศ.2453 พระปิยมหาราชทรงสวรรคต บ้านเมืองเปลี่ยนผ่าน ทำให้การศึกษาของคณะสงฆ์ในรูปแบบมหาวิทยาลัยต้องพลอยได้รับผลกระทบและหยุดชะงักไปด้วย ไม่มีการจัดการศึกษา ไม่มีพรบ.รองรับ ไม่มีอาคารเรียน ตึกแดงสร้างยังไม่แล้วเสร็จกระเบื้องที่สั่งมาจากจีนผิดพลาด กาลต่อมาตึกแดงกลายเป็น"หอสมุดวชิรญาณสำหรับพะนคร"
        
ปัจจุบันตึกแดงเป็นอาคารหอสมุดเและเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมศิลปากร แต่อยู่ในที่ดินภายในวัดมหาธาตุ เรื่องนี้เป็นข้อพิพาท เป็นมหากาพย์อันยาวนานมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในอดีตนั้นพระนิสิตมหาจุฬาฯเคยเดินขบวนประท้วงเรียกร้องคืนตึกแดงมาแล้วในนาม "กลุ่มเรียกร้องคืนตึกแดง" แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ วันนี้วัดมหาธาตุยังคงพยายามในเรื่องนี้ต่อไปเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 จนกว่าจะประสบความสำเร็จ
            
พ.ศ.2488 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น สุจิตฺโต นพวงศ์)ทรงสนับสนุนพระมหาสุชีพ สุชีโว (สุชีโวภิกขุ) พระสงฆ์ไทยรูปแรกที่บรรยายธรรมเป็นภาษาอังกฤษได้ร่วมกับคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายจัดการเรียนการสอนขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร หลังจากที่พระมหาสุขีพ สุชีโว มาขอใช้สถานที่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร (แต่เดิมนั้นจัดการเรียนวิชาพระพุทธศาสนากับวิชาการสมัยใหม่ที่วัดกันมาตุยาราม )ในนาม สภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย ในรูปแบบมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2488 โดยพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์(ม.ร.ว.ชื่น สุจิตฺโต นพวงศ์) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
            
พ.ศ. 2490 พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺโต) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุรูปทึ่ 15 นำพระมหาเถระ 57 รูปเจริญชัยมงคลคาถาที่ตำหนักสมเด็จวัดมหาธาตุ ประกาศเปิดการเรียนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2490 ณ วัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฏิ์ ในนาม มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฝ่ายมหานิกาย ในรูปแบบมหาวิทยาลัย โดยเปิดคณะพุทธศาสตร์เป็นคณะแรก และมีนิสิตเริ่มแรก 8 รูป
            
จะเห็นได้ว่า เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงสวรรคตการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ฝ่ายบ้านเมืองก็ไม่ได้สืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ ซึ่งถ้าไม่มีพระมหาเถระที่มองการณ์ไกล หัวก้าวหน้า ล้ำสมัย ก็ยากจะมีมหาวิทยาลัยสงฆ์ในวันนี้
          
ระยะเริ่มแรกจัดการจัดศึกษาถูกดูหมิ่นดูแคลนว่าเป็นมหาวิทยาลัยเถื่อน ปริญญาเถื่อน ผู้บริหารก็ต้องอดทน ก้มหน้าก้มตาทำเพื่อคณะสงฆ์และคุณภาพของพระภิกษุสามเณรที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ส่วนบัณฑิตนั้นเมื่อจบแล้วต้องไปเรียนต่อในระดับสูงขึ้นไปในต่างประเทศ เช่น อินเดีย ศรีลังกา สหรัฐอเมริกา เป็นต้นเพราะเมืองไทยไม่มีการยอมรับปริญญาของทั้งสองมหาวิทยาลัย
         
ปีพ.ศ. 2512 มหาเถรสมาคม ประกาศให้การศึกษาของทั้งสองมหาวิทยาลัยสงฆ์ เป็นการศึกษาของคณะสงฆ์ 
         
พ.ศ.2527 รัฐบาลประกาศรับรองปริญญาบัตร แต่ไม่รับรองสถานะของมหาวิทยาลัย
          
พ.ศ. 2540 รัฐบาลสมัยพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ออกพระราชบัญญัติให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐและเป็นนิติบุคคล สิ้นสุดการต่อสู้อันยาวนานเพื่อให้รัฐรับรองสถานะของมหาวิทยาลัย
         
สถานการณ์ปัจจุบันมหาวิทยาลัยทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยในหลากหลายปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป ในส่วนของมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ย่อมหนีไม่พ้นกฎเกณฑ์ในข้อนี้ 
           
มหาวิทยาลัยสงฆ์จะปรับตัวอย่างไร จะเดินหน้าแบบใหน จึงจะยังคงคุณค่าและรักษาสถานะให้มั่นคงไว้ได้ เพราะปัญหาต่างๆนั้นมีมากมาย ให้บริหาร จัดการ เช่น
            
1. ประชากรลดลง ปัจจุบันประชากรทั้งในประเทศและทั่วโลกต่างลดลงตามลำดับ คนชรามีมากขึ้น ศาสนทายาทหายากขึ้นทุกที นั่นย่อมหมายถึงจำนวนผู้เรียนจะหายากขึ้นทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์
            
2. โลกยุคโควิด-19 เปลี่ยนไป ทำให้วิถีแห่งการเรียน การสอน ถูกปรับเปลี่ยนไปด้วย นิสิต นักศึกษานั่งนอนอยู่บ้านแต่สามารถพบศาสตราจารย์ชั้นนำในมหาวิทยาลัยชื่อดังทั่วโลก แปลว่า คู่แข่งขยายวงกว้างมากขึ้น แนวรบทางด้านนี้เพิ่มมากขึ้น
            
3. รายได้จากรัฐลดลง เฉพาะในเมืองไทยชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยที่ขอรับงบประมาณจากรัฐ จะมีสัดส่วนที่จะต้องถูกลดงบประมาณลงมีความเป็นไปได้สูง
            
4. รายได้ในส่วนของมหาวิทยาลัยถดถอย แน่นอนเมื่อผู้เรียนลดลง การแข่งขันมากขึ้น เศรษฐกิจฝืดเคือง รายได้จากการจัดเก็บ การบริจาค และผลประโยชน์อื่นไดก็ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วยเข่นกัน
           
5.แบกรับภาระเพิ่มมากขึ้น ทั้งภาระค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัย ทั้งภาระคือความคาดหวังจากภาครัฐและคนทั่วไปในด้านศักยภาพ การบริการและการพัฒนา
          
6.ลูกผสมมีมากขึ้น แต่เดิมมหาวิทยาลัยสงฆ์สองแห่งมีเฉพาะพระสงฆ์สามเณรเท่านั้นที่มาศึกษาเล่าเรียน ส่วนผู้บริหารนั้นส่วนใหญ่จะเป็นพระสงฆ์ ปัจจุบันนิสิต นักศึกษา มีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ หลากหลายทั้งเพศ อายุ ความเชื่อและการแสดงออก
          
ในฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยนั้นก็เช่นกัน มีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ เดิมนั้นทั้งสองแห่งเป็นการบริหารแบบครอบครัว คือจบ พธ.บ. มาบริหารมหาจุฬาฯ จบ ศน.บ.มาบริหารมหามกุฏ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งมีบุคคลากรที่จบมาจากสถาบันอื่นๆมาอยู่ในองค์กรและรวมทั้งเป็นผู้บริหารในสัดส่วนที่มีมากขึ้น เมื่อเป็นลูกผสมก็จำต้องระมัดระวังในเรื่องผลประโยชน์ ทิศทางในการดำรงสถานะของความเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ รวมทั้งเรื่องของความสามัคคีด้วย
          
7.เทคโนโลยีสารสนเทศ แน่นอนวันนี้มหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ต้องวิ่งแข่งขันในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย แต่ก็เนื่องด้วยงบประมาณที่ได้รับค่อนข้างจำกัด รายได้ในส่วนของมหาวิทยาลัยก็มีไม่มากนัก จะประยุกต์ใช้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพจะตอบสนองผู้เรียนอย่างไรให้พึงพอใจและจะวิ่งแข่งกับมหาวิทยาลัยอื่นๆอย่างไร
            
8.งานวิจัย เรื่องวิจัยเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยในทั่วโลก แต่สำหรับมหาวิทยาลัยสงฆ์จะมีทิศทางในการวิจัยอย่างไร เช่นการผลิตนักวิจัยอย่างมืออาชีพ การวิจัยทางพระพุทธศาสนาเพื่อตอบโจทย์สังคมปัจจุบัน เป็นต้น
          
9.นวัตกรรม จะกำหนดทิศทางในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆโดยเฉพาะนวัตกรรมด้านพระพุทธศาสนาเพื่อสนองตอบสังคมอย่างไร รวมทั้งกระบวนการเปลี่ยนแนวคิดของผู้คนทั้งสองมหาวิทยาลัยสงฆ์ให้เดินก้าวไปด้วยกัน หายใจเป็นจังหวะเดียวกันและมีเป้าหมายที่ตรงกันอย่างไร
          
10. แหล่งผลิตและศูนย์รวมแห่งศีลธรรม ในฐานะมหาวิทยาลัยสงฆ์จะต้องชัดและประจักษ์ในเรื่องศีลธรรม ทั้งในทางการบริหาร บุคลากร และบัณฑิตที่ผลิตออกไปสู่สังคม รวมทั้งที่ว่า คิดอะไร สนใจแบบใหน ในทุกหลักสูตร ทั้งระดับประกาศนียบัตร เกียรติบัตร การฝึกฝนอบรม การเรียนการสอนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว  หรือจะต้องการเรียนหลักสูตรอย่าง วปอ. สถาบันพระปกเกล้า ในด้านที่เกี่ยวกับศีลธรรม หรือในเรื่องบุญในเรื่องกุศล ผู้คนจะต้องคิดถึงสองมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้เท่านั้น
          
11. มหาวิทยาลัยเปิดกว้าง ขณะนี้มหาวิทยาลัยชื่อดังทั่วโลกกำลังปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยสงฆ์จะ Block Course ต่อไปคงลำบาก  จะต้องขยับเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังเพื่อความอยู่รอด
            
12. ความสัมพันธ์กับคณะสงฆ์ มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งนั้นผู้บริหารจะต้องเปรียบประหนึ่งว่าเป็นผู้แทนของคณะสงฆ์ในการเข้ามาบริหารการศึกษาในส่วนนี้ ขณะเดียวกันคณะสงฆ์ เจ้าคณะผู้ปกครองก็ต้องคิดเช่นเดียวกัน และควรให้การสนับสนุนส่งเสริมเพื่อพระราชปณิธานของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 จะบรรลุผล
            
13. เป็นตัวแทนคณะสงฆ์ในทั่วโลก วันนี้ในทั่วโลกมีทั้งคณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาทและมหายาน ทั้งในประเทศเพื่อนบ้านและห่างไกลออกไป มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งจะต้องสัมพันธ์ เชื่อมโยง และถูกไว้วางใจเพื่อเป็นตัวแทนในการจัดการศึกษาในฐานะมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาโลกของคณะสงฆ์ทั้งสองนิกายใหญ่ เพื่อขยายมหาวิทยาลัยให้เป็นสากลมากขึ้น


มหาวิทยาลัยสงฆ์ยุคเริ่มแรกนั้น อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของรัชกาลที่ 5 แต่เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต ดูเหมือนมหาวิทยาลัยสงฆ์จะตกอบ ไม่มีอนาคตและหาผู้สืบทอดยาก เมื่อตกมาถึงยุคที่เริ่มมีการเรียนการสอนผู้บริหารต้องต่อสู้ด้วยมือเปล่าและเสียสละท่านต่อสู้เพื่อให้ได้รับการ “ยอมรับ”ทั้งในทางนิตินัยและพฤตินัย

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงฆ์เมื่อมีสถานะต่างๆที่พึงมีพึงได้แล้วก็ต้องต่อสู้กับตัวเองให้มากขึ้น การพัฒนามหาวิทยาลัย การพัฒนาบุคคลากรเพื่อให้ถูกทิศถูกทางและในขณะเดียวกันต้องสนองตอบสังคมเทคโนโลยีให้ได้ประสิทธิภาพขั้นสูง

ในส่วนของเป้าหมายนั้นแน่นอนว่ามหาวิทยาลัยจะต้องมีอะไรอีกหลายอย่างรวมทั้งเป้าหมายคือพันธกิจและวิสัยทัศน์ให้จัดเจน จับต้องใด้และก็เดินไปให้ถึงภายในระยะเวลาที่กำหนดและทันท่วงที

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564
#เจ้าคุณประสาร

 

ที่มา พระเมธีธรรมาจารย์ - เจ้าคุณประสาร






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.