รวบ "ชาวเมียนมา" 45 คน ลักลอบข้ามแดนจากมาเลย์ หลังถูกนายหน้าลอยแพ
3 มี.ค. 2564, 14:48
วันที่ 3 มี.ค. 64 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงาน เมื่อเวลา 08.30 น. นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส พ.ต.ท.สุเมธ กนกเหมพันธ์ สว.ตม.จ.นราธิวาส ร.อ.ณัฐพล คณะทอง ผบ.ร้อย ปชด.ที่ 3 และนายมะยุรี เจ๊ะโซ๊ะ สาธารณสุข อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ได้ร่วมเดินทางไปยังอาคารโรงยิมเนเซี่ยม อบต.มูโนะ เพื่อทำการคัดกรองและตรวจสอบประวัติของชาวเมียนมา จำนวน 45 คน โดยแยกเป็นเพศชาย 41 คน เพศหญิง 4 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 20 ถึง 40 ปี ที่ถูกเจ้าหน้าที่กองกำลัง 3 ฝ่าย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณช่องทางข้ามธรรมชาติ บ้านตือระ ม.2 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก ควบคุมตัวเอาไว้ได้ขณะที่อาศัยจังหวะแม่น้ำสุไหงโก-ลก แห้งขอด เดินข้ามแดนจากพื้นที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เพื่อรอนายหน้าชาวไทยส่งกลับประเทศเมียนมา โดยแต่ละคนได้หอบหิ้วกระเป๋าสัมภาระมาด้วย
จากการตรวจคัดกรองชาวเมียนมาทั้ง 45 คน พบว่ามีอุณหภูมิร่างกายปกติ และจากการซักถามประวัติส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่รัฐยะไข่ และได้อาศัยลักลอบข้ามแดนจากพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก เมื่อประมาณ 2 ปี ที่ผ่านมา โดยมีนายหน้านำพาเพื่อเดินทางไปทำงานร้านอาหารและโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สถานประกอบการได้หยุดกิจการ แถมเจ้าหน้าที่ทางการประเทศมาเลเซียตรวจสอบเข้มตามสถานประกอบการ นายหน้าชาวมาเลเซียจึงได้ลักลอบนำพาชาวเมียนมาทั้ง 45 คน มาปล่อยทิ้งให้ชาวเมียนมาอดอยาก 2 วัน ที่บริเวณพรมแดนฝั่งตรงข้ามช่องทางธรรมชาติ บ้านตือระ ม.2 ต.ปาเสมัส พร้อมได้ยึดหนังสือเดินทางโดยอ้างว่า จะมีนายหน้าชาวไทยมารับเพื่อส่งกลับประเทศ กลุ่มชาวเมียนมาทั้ง 45 คน เห็นผิดปกติเลยอาศัยจังหวะแม่น้ำสุไหงโก-ลก แห้งขอด จึงพากันเดินข้ามจากฝั่งรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เพื่อหวังที่จะมารวมตัวกันฝั่งไทย เพื่อง่ายต่อนายหน้าชาวไทยพากลับประเทศ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายจับกุมในที่สุด
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากที่ภายในประเทศเมียนมาเกิดเหตุการณ์จลาจล มีการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร ทำให้ทางการประเทศเมียนมาประกาศปิดประเทศไม่มีกำหนด ทางการมาเลเซียจึงใช้มาตรการผลักดันชาวเมียนมาออกจากประเทศ โดยผ่านช่องทางธรรมชาติของประเทศไทย เพื่อลดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูและส่งกลับประเทศ จึงเป็นที่มาของชาวเมียนมาเป็นจำนวนมาก จะอาศัยลักลอบข้ามแดนตามช่องทางธรรมชาติข้ามมายังฝั่งของไทย ซึ่งไทยต้องรับภาระค่าเลี้ยงดูกลุ่มชาวเมียนมาไปโดยปริยาย ตามหลักมนุษยธรรม เนื่องจากช่องทางธรรมชาติทุกจุด ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับฝั่งไทย จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนของทางการประเทศมาเลเซีย ถูกส่งตัวมาปฏิบัติหน้าที่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนของทางการประเทศมาเลเซีย สามารถจับกุมตัวดำเนินคดีได้ แต่กลับได้ผลักดันชาวเมียนมาให้พ้นภาระมายังฝั่งไทย ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติโดยเฉพาะในเรื่องของความสุ่มเสี่ยงที่ชาวเมียนมาจะนำพาเชื้อไวรัสโควิด-19 มาระบาดในไทย