โฆษกรัฐบาล เผยบอร์ด ECC ผลักดัน 5G ในพื้นที่อีอีซีนำร่อง "บ้านฉาง" เมืองอัจฉริยะ
6 มี.ค. 2564, 13:38
วันนี้ (6 มี.ค. 2564) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผย ไทยเปิดให้บริการ 5 G เต็มรูปแบบในพื้นที่อีอีซีแล้ว ภายใต้แผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5 G ระยะที่ 1 ทำให้การขับเคลื่อน 5G ในไทยเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนถึง 5 ปี ซึ่งในสัปดาห์หน้า (8 มี.ค.) นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 เพื่อเร่งให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี 5G ในประเทศ และมอบแนวทางให้มีขยายการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ครอบคลุมทั้งด้านคมนาคม การศึกษา การเกษตร อุตสาหกรรม และสุขภาพ เพื่อให้ไทยก้าวสู่เศรษฐกิจสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม เต็มประสิทธิภาพ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/2564 ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. เป็นประธาน รับทราบการลงทุนพัฒนาระบบ 5G ในพื้นที่อีอีซี ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐาน ที่ได้มีการเดินหน้าติดตั้ง ท่อ เสา สาย และสัญญาณแล้วเสร็จเกินร้อยละ 80 ด้วยการใช้เสาอัจฉริยะ (Smart pole) ทำให้สามารถกำหนดราคาต่ำสุด ลดภาระต้นทุน เพิ่มความสามารถการแข่งขันของธุรกิจ รวมทั้งความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลคลาวด์ภาครัฐและภาคเอกชนที่เปิดเผยได้ จัดทำข้อมูลกลางเพื่อธุรกิจในอนาคต หรือ Common Data Lake ใน อีอีซี รวมถึงการใช้ประโยชนที่เน้นเพิ่มผู้ใช้5G ในภาคการผลิตและภาคธุรกิจ ได้แก่ โรงงานในอีอีซี 10,000 แห่งและโรงแรม 300 แห่ง สถานศึกษา โรงพยาบาล นำร่องใช้ 5G บริเวณสัตหีบ สนามบินอู่ตะเภา นิคมฯ มาบตาพุดและบ้านฉาง นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันให้ “บ้างฉาง เป็นต้นแบบชุมชนอนาคต” (Smart city) ให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จาก 5 G ในมิติต่างๆ ทั้งการวางแผนการเพาะปลูกด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ (precision farming) และดิจิทัลเพื่อดูแลสุขภาพชุมชน รวมทั้งส่งเสริมการสร้างธุรกิจใหม่จาก 5G เช่น แอปพลิเคชั่นด้านหุ่นยนต์และออโตเมชั่น เป็นต้น พร้อมทั้ง การพัฒนาบุคลากร ที่เน้นผลิตบุคลากรที่มีทักษะตามความต้องการของเอกชน (Up-Re-New Skill) ด้วยการประสานกับบริษัทชั้นนำ เช่น Huawai, HP ในการผลิตบุคลากรร่วมกันกว่า 44,000 คน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการเดินหน้า 5G ในไทย ว่า ขณะนี้ได้เริ่มติดตั้งโครงข่าย 5G แล้วในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยังมีโครงการนำร่องด้านต่างๆ อาทิ สถานีอัจฉริยะ (Smart Station) ณ สถานีกลางบางซื่อ ต้นแบบสถานีอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี 5G แห่งแรกของประเทศไทยและแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีบริการ Smart Information ช่วยเหลือผู้เดินทาง เช่น การนำทางภายในสถานี การช่วยเหลือฉุกเฉิน Automation Wheelchair บริการผู้พิการและผู้สูงอายุ โดยระบุจุดหมายและ wheelchair จะเคลื่อนที่ไปยังพื้นที่เป้าหมายอัตโนมัติด้วย 5G และโครงการ Smart Campus ของ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พัฒนา Wireless Campus ยกระดับห้องเรียนแบบ Intelligent Hybrid Classroom ต้นแบบ จัดการความปลอดภัยด้วย Face Recognition/Anti-Fake Prevention/Smart Access Control System สำหรับการตรวจสอบผู้เข้า-ออกมหาวิทยาลัย เป็นต้น