อธิการบดี มวล. เผยความคืบหน้าโครงการการก่อสร้างศูนย์การแพทย์
6 ส.ค. 2562, 14:44
วันที่ 6 ส.ค.62 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ พร้อมระบบสาธารณูปการ มูลค่า 2,128 ล้านบาท ซึ่งบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) กำลังดำเนินการก่อสร้างบนพื้นที่ 405 ไร่ ซึ่งประกอบด้วย อาคารอำนวยการ (อาคาร A) ขนาด 5 ชั้น อาคารโรงพยาบาล (อาคาร B, C และ D) ขนาด 9 ชั้น และกลุ่มอาคารบ้านพักบุคลากร ได้แก่ อาคาร R1 บ้านพักสูง 4 ชั้น ขนาด 160 หน่วย อาคาร R2 บ้านพักบุคลากรโสด สูง 3 ชั้น จำนวน 1 หลัง 80 หน่วย อาคาร R3 บ้านพักบุคลากรครอบครัว 3 หลัง หลังละ 60 หน่วย อาคาร R4 และบ้านพักเดี่ยว 2 ชั้น จำนวน 25 หน่วย ขณะนี้การก่อสร้างโดยภาพรวม ณ เดือนสิงหาคม 2562 ได้ดำเนินการไปแล้วร้อยละ 90 ซึ่งถือเป็นผลงานที่น่าพอใจเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนงานสถาปัตยกรรมและงานระบบต่างๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จทันภายในปี 2562 นี้
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวต่อไปอีกว่า หลังการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2562 จากนั้นในปี 2563 เริ่มรับผู้ป่วยใน จำนวน 120 เตียง และปี 2564 ขยายเพิ่ม 419 เตียง ส่วนระยะต่อไปจะขยายให้ครบ 750 เตียง ซึ่งจะกลายเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ของภาคใต้ตอนบนมีบุคลากรทางการแพทย์ไม่น้อยกว่า 3,000 คน มีการให้บริการทางการแพทย์ใน 14 สาขาความเชี่ยวชาญ รองรับการให้บริการเฉลี่ยปีละ 5 แสนคน
อย่างไรก็ตามขณะนี้โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ดำเนินการเปิดโรงพยาบาลนำร่องมาแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 มีการเปิดให้บริการคลินิกตา เวชศาสตร์ฟื้นฟู เวชศาสตร์ครอบครัว คลินิกอายุรกรรม คลินิกเด็ก คลินิกโรคภูมิแพ้และหอบหืด คลินิกเรื้อรัง คลินิก หู คอ จมูก คลินิกทั่วไป คลินิกศัลกรรมกระดูกและข้อ คลินิกถันยเมตต์ คลินิกศัลยกรรม คลินิกสูตินารีเวช คลินิกจิตเวช คลินิกตรวจสุขภาพ รวมถึงแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โดยบริการผู้ป่วยนอก 300 คนต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรและนักศึกษารวมกว่า 9,000 คน
“เราตั้งเป้าเป็นโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ชั้นนำที่ทันสมัยที่สุดของภาคใต้ตอนบน เป้าหมายการก่อตั้งโรงพยาบาลศูนย์ฯ จึงไม่ใช่เพียงการบริการเท่านั้น แต่เป็นการส่งเสริมให้แพทย์มีการค้นคว้าวิจัยและบูรณาการกับการผลิตแพทย์ ดังนั้นการสร้างโรงพยาบาลศูนย์ภาคใต้ตอนบนจึงไม่ใช่เพียงการแบ่งเบาภาระการให้บริการของโรงพยาบาลรัฐแต่เป็นการเพิ่มทางเลือกการรักษาโรคซับซ้อน และบูรณาการผลิตผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรการแพทย์ เพื่อประชาชนในภาคใต้ตอนบนอีกด้วย”ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว