เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มท.1 ถกขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน จ.เชียงใหม่ ย้ำฟื้นฟู ศก.สร้างชีวิตที่ดี สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม


11 มี.ค. 2564, 16:26



มท.1 ถกขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน จ.เชียงใหม่ ย้ำฟื้นฟู ศก.สร้างชีวิตที่ดี สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม




วันนี้ (11 มี.ค.64) เวลา 13.30 น. พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขตตรวจราชการที่ 15 นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย ผู้บริหารส่วนกลาง และผู้ตรวจราชการกรม ร่วมประชุม โดยมี นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ปลัดจังหวัด นายอำเภอ และคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมประชุม



นายเจริญฤทธิ์ กล่าวว่า ได้กำหนดประเด็นหารือในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 2/2564 ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในภาพรวม ความก้าวหน้าการดำเนินงานสืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา (พืชสวนโลกเชียงใหม่ เชียงใหม่ 12 เดือนเมืองเทศกาล การจ้างงาน สร้างอาชีพด้วยกลไกประชารัฐ การจัดการปัญหา PM 2.5) และโครงการคลองแม่ข่า

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในภาพรวม จังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินมาตรการคุมเข้ม ควบคุม ผ่อนปรน ส่งผลให้ไม่พบผู้ติดเชื้อในจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงมาตรการการคุมเข้มระลอกใหม่ เป็นระยะเวลา 58 วัน และมีความก้าวหน้าการดำเนินงานสืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 63 ได้แก่ 

1) โครงการพืชสวนโลกเชียงใหม่ Chiang Mai Flora Expo 2021 

2) เชียงใหม่ 12 เดือน เมืองเทศกาล Chiang Mai Festival Economy 

3) การลงทุนภาครัฐเพื่อจ้างงานและช่วยเหลือผู้ประกอบการ ได้แก่ โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (อว.ส่วนหน้า ร่วมขับเคลื่อนเชียงใหม่) โครงการ Tambon Smart Team โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน และโครงการช่วยเหลือของรัฐบาล (เราชนะและคนละครึ่ง) 

4) การจัดการปัญหา PM 2.5 มีจุด Hotspot ลดลงร้อยละ 34.46 โดยกำหนด 3 มาตรการจัดการปัญหา ได้แก่ มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ มาตรการและการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ซึ่งได้กำหนด Certified Safe Zone  26 แห่ง

5) โครงการคลองแม่ข่า โดยภาครัฐร่วมกับประชาชน ดำเนินการเก็บวัชพืช และพัฒนาริมคลองแม่ข่า โดยกำจัดวัชพืชในลำเหมืองและริมฝั่ง เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก และเป็นการป้องกันปัญหาน้ำท่วม ทั้งนี้ จังหวัดได้บูรณาการทุกภาคส่วนร่วมกันจัดทำโครงการพัฒนาและแก้ไขคลองแม่ข่าจังหวัดเชียงใหม่ รวม 6 แผนงาน  และได้จัดดำเนินการประกวดคลอง สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งคลองให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคลองแม่ข่าตลอดสายอย่างต่อเนื่องและเกิดความยั่งยืน

ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้นำเสนอประเด็นนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ


พลเอก อนุพงษ์ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้มีวัตถุประสงค์ติดตามแผนงานของส่วนราชการในจังหวัดทั้งหมด ทั้งงานตามอำนาจหน้าที่ (Function) งานนโยบาย (Agenda) และงานในพื้นที่ (Area) รวมถึงการพัฒนาอื่น ๆ ในพื้นที่ ว่ามีอุปสรรคใดในการขับเคลื่อนงาน เพื่อสะท้อนและประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ทั้งนี้ขอชื่นชมจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้บูรณาการทุกภาคส่วนขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้นำองค์ความรู้มาสร้างนวัตกรรม ทำให้เกิดการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะมหกรรมพืชสวนโลกเชียงใหม่ และเชียงใหม่ 12 เดือน เมืองเทศกาล 

สำหรับปัญหา PM 2.5 ขอให้ขับเคลื่อนมาตรการที่ดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องและนำแนวทางการลดเชื้อเพลิงเพื่อไปสร้างมูลค่าเพิ่มมาประยุกต์ใช้

นอกจากนี้ในการแก้ปัญหาคลองแม่ข่า ต้องสร้างความร่วมมือของทุกคนในการบำบัดน้ำเสียตั้งแต่ครัวเรือนแหล่งกำเนิด (ต้นทาง) เพื่อให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสร้างโอกาสให้จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมอย่างยั่งยืน






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.