แรงงาน 88 ชีวิต เดือดร้อนถูกโรงงานตุ๊กตา เบี้ยวค่าแรง ตบเท้าเข้ารับเงินสงเคราะห์จากผู้ว่าฯโคราช
18 มี.ค. 2564, 09:24
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายอำเภอด่านขุนทด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกันมอบเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างแก่ลูกจ้างบริษัท เอสที พลัชทอย จำกัด จำนวน 88 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,120,246.68 บาท หลังถูกโรงงานดังกล่าว ซึ่งเป็นโรงงานผลิตตุ๊กตาส่งออกค้างค่าจ้างก่อนปิดโรงงาน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ นายเกษมสันต์ เครือเจริญ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา เผยว่า กรณีนี้แรงงานทั้งหมดได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจงาน ว่าบริษัท เอสที พลัชทอย จำกัด นายจ้าง ค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่ทำงานเดือนสิงหาคม - พฤศจิกายน 2562 พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา ได้รับคำร้องลูกจ้าง และมีคำสั่งให้ บริษัท เอสที พลัชทอย จำกัด นายจ้าง จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างภายใน 30 วัน แต่ปรากฏว่า นายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งภายในเวลาที่กำหนด
คำสั่งจึงเป็นที่สุด ลูกจ้างบริษัท เอสที พลัชทอย จำกัด จึงยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการดำรงชีพ คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง มีมติเห็นชอบให้จ่ายเงินสงเคราะห์แก่ลูกจ้างของบริษัท กรณีนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง แต่ไม่เกินคนละ 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน โดยให้จ่ายเงินสงเคราะห์แก่ แรงงานทั้งหมด จำนวน 88 คน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,120,246.68บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่แรงงานทั้งหมด
สำหรับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลคุ้มครองแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ ให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด และมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกจ้าง กรณีไม่ได้รับสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เมื่อลูกจ้างยื่นคำร้อง และพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติภายใน 30 วัน หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งภายในเวลาที่กำหนดคำสั่งถือเป็นที่สุด ลูกจ้างสามารถยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการดำรงชีพ จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง บริหารงานโดยคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งเป็นไตรภาคี ประกอบด้วย ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐเงินสงเคราะห์เป็นเงินที่ได้รับอุดหนุนจากรัฐบาล เงินค่าปรับจากการลงโทษผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และเงินดอกผลของกองทุนเงินสงเคราะห์ของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเป็นเงินที่จะจ่ายให้กับลูกจ้าง ซึ่งได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย หรือนายจ้างไม่จ่ายเงินอื่นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
ซึ่งกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมีหลักกณฑ์การจ่ายเงินสงเคราะห์ตามระเบียบที่กำหนด และเมื่อจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างแล้ว กองทุนมีสิทธิเรียกให้นายจ้างชดใช้เงินที่กองทุนได้จ่ายไปพร้อมดอกเบี้ย