"กรมการแพทย์" สร้างเครือข่ายสุขภาพ ดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่จังหวัดน่าน
19 มี.ค. 2564, 09:41
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงพยาบาลน่านนายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการเขต 1 เปิดเผยว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคนไทย จากรายงานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขในปี 2561 พบว่าอัตราตายของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจของจังหวัดน่านเท่ากับ 43.56 คน ต่อแสนประชากร ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เห็นความสำคัญของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้มีแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพของสาขาโรคหัวใจและหลอดเลือดขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม และทันเวลา
ทั้งนี้ จังหวัดน่านตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนบน ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีพื้นที่ 11,472 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 15 อำเภอ 99 ตำบล 918 หมู่บ้าน 28 ชุมชนเมือง ประชากรรวม 480,010 คน ห่างไกลจากจังหวัดที่มีโรงพยาบาลศูนย์ (อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงราย เชียงใหม่) ระยะทางกว่า 230 - 350 กิโลเมตร มีชายแดนติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) 277 กิโลเมตร และมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามนโยบายเป็นเมืองท่องเที่ยวของรัฐบาลไทย เพิ่มขึ้นปีละ 12 - 18% เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 97.7% และส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งกลุ่มนี้มีความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ มีการพัฒนาความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจในอาเซียน (AEC) โดยการเปิดชายแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อการพัฒนาความสัมพันธ์ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของภูมิภาค
จังหวัดน่านได้มีการเปิดด่านถาวรสากลสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ณ บ้านห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติมาตั้งแต่ปี 2537 ในปัจจุบันความร่วมมือมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้น ประกอบกับจังหวัดน่านยังเป็นพื้นที่ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินมาประทับและปฏิบัติพระราชภารกิจตามโครงการพระราชดำริอย่างสม่ำเสมอ
ดังนั้น “การพัฒนาเครือข่ายบริการสุขภาพในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด” เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อพัฒนามาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจตลอดจนการบริหารจัดการระบบฐานข้อมูลของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายแพทย์วรินทร์เทพ เชื้อสำราญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่านกล่าวว่าในอดีตผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่ได้ยาละลายลิ่มเลือดในจังหวัดน่าน โรงพยาบาลน่านต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาในโรงพยาบาลระดับสูงกว่า ซึ่งจากลักษณะภูมิประเทศ ที่ล้อมรอบด้วยภูเขา ทำให้การส่งต่อผู้ป่วยใช้เวลาในการนำส่งผู้ป่วยนานกว่า 4 ชั่วโมงไปยังโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง และ 6 ชั่วโมงไปยังโรงพยาบาลนครพิงค์ หรือโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาช้า กล้ามเนื้อหัวใจไม่ฟื้นคืนสู่สภาพปกติ หรือเสียชีวิตในระหว่างการนำส่ง
นอกจากนั้น ยังมีประชาชนบางส่วนที่เสียโอกาสจากการปฏิเสธการส่งต่อ เนื่องจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ และความไม่คุ้นชินต่อการดำเนินชีวิตในต่างจังหวัด โดยแนวทางมาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือดแล้วเส้นเลือดเปิดในปัจจุบันต้องได้รับการตรวจโดยการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram : CAG) ระหว่าง 24 - 72 ชั่วโมง จากข้อบ่งชี้ดังกล่าวจึงทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจในจังหวัดน่าน ต้องถูกส่งตัวไปรับการวินิจฉัยตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือดที่โรงพยาบาลศูนย์ลำปางมากขึ้น
แพทย์หญิงอัจฉรา ละอองนวลพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่านกล่าวว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลน่านมีผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่เข้ารับการรักษาและได้รับยาละลายลิ่มเลือด (streptokinase) ร้อยละ 78.9 โดยมีอัตราตายสูงถึง ร้อยละ 15.50 จากการทบทวนพบสาเหตุจากระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกจนกระทั่งมาถึงโรงพยาบาลนานเกินกว่า 3 ชั่วโมง และกลุ่มที่มีความรุนแรงและซับซ้อนของโรคไม่สามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในระดับสูงกว่าได้ทันเวลา และจากสถิติผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในพื้นที่ของจังหวัดน่าน มีสถิติมารับบริการสูงขึ้นตามลำดับ โดยในปี 2560 จำนวน 310 ราย2561 จำนวน 354 ราย และ2562 จำนวน 388 ราย จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โรงพยาบาลน่านเล็งเห็นความสำคัญในการเพิ่มการเข้าถึงบริการ และการรักษาที่มีคุณภาพของผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงมีแผนพัฒนาศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือดให้สามารถเปิดห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือดเพื่อการวินิจฉัยรักษา และหน่วยดูแลผู้ป่วยวิกฤตหัวใจและหลอดเลือด (Coronary Care Unit) เพื่อให้บริการผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในพื้นที่รับผิดชอบอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความปลอดภัยกับผู้ป่วยมากที่สุด
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอกกล่าวว่า โครงการ “10,000 ดวงใจ ปลอดภัย ด้วยพระบารมี” เริ่มในปี 2556 และต่อเนื่องมาเป็นโครงการวิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Diseases) ตั้งแต่ปี 2557 – ปัจจุบัน มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพบุคลากร พัฒนาระบบบริการให้ได้มาตรฐาน การส่งต่อระบบเครือข่าย โดยการอบรมให้ความรู้ ผลิตตำรามาตรฐานการรักษา ผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว พัฒนาการบริหารจัดการข้อมูลโดยจัดตั้งศูนย์กลางดูแล Server โปรแกรม Thai ACS Registry ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับฟังปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายทั่วประเทศ ตามรูปแบบเครือข่ายการบริการ (Service Plan) ซึ่งจะมีการกำหนดพื้นที่บริการและระบบส่งต่อที่ชัดเจน สามารถส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว มีมาตรฐานโครงการวิกฤตโรคหัวใจฯ มีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดชนิด STEMI น้อยกว่าร้อยละ9ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้รวดเร็ว มีระบบเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ ได้รับการรักษาตามมาตรฐานสากล ซึ่งในปี 2563จากรายงานการบริหารจัดการข้อมูลของโปรแกรม Thai ACS Registryพบว่า สถาบันโรคทรวงอกได้ดำเนินการจัดทำโครงการฯ และรวบรวมข้อมูล ACS เป็นศูนย์ข้อมูลกลางจากโรงพยาบาล จำนวน 714แห่งทั่วประเทศมีจำนวนผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 26,726 รายเป็นข้อมูลที่สมบูรณ์จำนวน 19,141 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วย STEMI 7,777 ราย คิดเป็นร้อยละ 40.63 และ NSTEMI & U/A 10,619 ราย คิดเป็นร้อยละ 57.36 ผู้ป่วยที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือดและเปิดหลอดเลือดการทำบอลลูน (Reperfusion) จำนวน 6,062 ราย คิดเป็นร้อยละ 77.95 อัตราเสียชีวิตในโรงพยาบาล STEMI คิดเป็นร้อยละ 10.45 และ NSTEMI คิดเป็นร้อยละ 5.88ตามลำดับ
ปีงบประมาณ 2564 สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ได้ดำเนินงานโครงการ วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจึงจัดประชุมวิชาการสัญจรให้กับโรงพยาบาลในเขต 1,2 และ 3 โดยโรงพยาบาลน่าน ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม มีกิจกรรมการบรรยายทางวิชาการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ ให้ความรู้ด้านวิชาการ การรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจ ให้แก่แพทย์ พยาบาล และผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเพิ่มทักษะ ประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยและลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน