เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สธ. ยืนยัน ! คนไข้เส้นเลือดในท้องโป่งพองแตกเสียชีวิต ไม่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน


26 มี.ค. 2564, 12:22



สธ. ยืนยัน ! คนไข้เส้นเลือดในท้องโป่งพองแตกเสียชีวิต ไม่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน




วันที่ 26 มี.ค. 64 เวลา 11.00 น. กระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงข่าวประเด็นผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 หลังพบผู้ป่วยเส้นเลือดในท้องโป่งพองแตกเสียชีวิตหลังได้รับวัคซีน-19 โดย นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 และ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ

จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยรายนี้ ได้เข้ารับผ่าตัดเพื่อรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม 2564  และนอนพักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ประมาณ 40 วัน หลังจากนั้นแพทย์ให้กลับบ้าน เมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เนื่องจากเห็นว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยง และมีโรคประจำตัว  หลังฉีดวัคซีนประมาณ 30 นาที พบว่าอาการปกติ หลังจากนั้นผู้ป่วยกลับบ้าน โดยมีระบบการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ในวันที่ 1 และวันที่ 3 หลังฉีดวัคซีน  ผู้ป่วยรายงานอาการของตัวเอง ว่าอาการปกติ  ในวันที่ 7 หลังฉีดวัคซีน เจ้าหน้าที่ผู้ติดตามอาการ ไม่สามารถติดต่อผู้ป่วยได้ ในวันที่ 8 และ 9 หลังฉีดวัคซีน ผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอก เวียนศีรษะ เป็นลม จึงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล  แต่อาการได้ทรุดลง ตามลำดับ จนกระทั่ง ในวันที่ 13 หลังฉีดวัคซีน ผู้ป่วยเสียชีวิต 



แพทย์จึงสรุปว่า ผู้ป่วยน่าจะเสียชีวิตจากอาการหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง แตกและรั่วในร่างกาย  โรคนี้เป็นเหมือนระเบิดเวลาและอันตรายมาก  ส่วนการไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่ได้มีผลเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต เพียงแต่บังเอิญไปรับวัคซีนในช่วงเวลานั้น   

นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ กล่าวว่า ในคนปกติ หลอดเลือดแดงใหญ่ ที่สูบฉีดเลือดสู่หัวใจ จะพาดผ่านไปยังช่องอก ช่องท้อง และขาทั้งสองข้าง ทำหน้าที่เหมือนท่อหลักของน้ำประปา หลอดเลือดที่โป่งพอง เป็นความผิดปกติที่มักเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะเนื้อเยื่อต่างๆ เริ่มเสื่อมสลาย ความแข็งแรงของหลอดเลือดน้อยลง  นอกจากนี้ยังพบว่า อาการหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง อาจเกี่ยวพันกับโรคหัวใจ โรคความดันสูง ไขมันในเลือดสูง และสูบบุหรี่ รวมทั้งอาจเกิดจากความพิการแต่กำเนิด ซึ่งเคยพบในเด็ก แต่มีจำนวนน้อยมาก  


ก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ ทำให้ไม่รู้ตัว ผู้ป่วยหลายรายมักตรวจพบโดยบังเอิญ จากการไปตรวจร่างกาย หรือหากมีอาการ ก็คืออยู่ในภาวะอันตราย คือ เจ็บหน้าอก เจ็บหลัง ปวดท้องอย่างเฉียบพลัน ซึ่งเป็นอาการในภาวะเร่งด่วน อันตราย เสี่ยงต่อการเสียชีวิต  ส่วนการรักษา หากพบว่าโป่งพองเป็นก้อนเล็ก ก็ใช้วิธีเฝ้าระวัง และดูแลสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยง หากพบก้อนใหญ่ต้องผ่าตัดเพื่อใส่หลอดเลือดเทียม และต้องระวังอย่าให้หลอดเลือดแตก เพราะโอกาสรอดชีวิตมีน้อย  ซึ่งในผู้ป่วยที่เสียชีวิตรายนี้ ก็ทราบมาก่อนว่าตัวเองมีโรคดังกล่าว






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.