แพทย์เตือนผู้ปกครอง เฝ้าระวังบุตรหลานจมน้ำในฤดูร้อน
26 มี.ค. 2564, 15:49
แพทย์หญิง วราลี เดชพุทธวัจน์ กุมารแพทย์สาขาพัฒนาการและพฤติกรรม กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลนครพิงค์ เตือนผู้ปกครอง เฝ้าระวังบุตรหลานในช่วงฤดูร้อน ที่อาจลงเล่นน้ำคลายร้อน และเกิดพลัดจมน้ำเสียชีวิตได้ เนื่องจากในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่อากาศเริ่มร้อน และเริ่มมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำตามที่เห็นกันในข่าวต่าง ๆ
และการจมน้ำเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต อันดับ 1 ของเด็กไทย จากสถิติการจมน้ำพบมากในช่วงฤดูร้อน ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 550 คน เฉลี่ยวันละ 1.5 คน โดยช่วงปิดเทอมเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม มีเด็กเสียชีวิตมากที่สุด คือ 199 คน สถิติการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุ ต่ำกว่า 15 ปี ในจังหวัดเชียงใหม่ ย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2557-2562 พบว่ามี 14, 11, 7, 13, 13 และ 11 รายตามลำดับ
โดยเด็กเล็กมักจะจมน้ำในแหล่งน้ำในบ้าน เช่น ถังน้ำ กะละมัง หรือแหล่งน้ำในบริเวณบ้าน เช่น บ่อเลี้ยงปลา คูน้ำ ร่องน้ำ เป็นต้น ซึ่งมักเกิดขณะผู้ดูแลอยู่ใกล้ แต่เผลอเรอชั่วขณะ ซึ่งระยะเวลาไม่กี่นาทีก็เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ การสูญเสียเหล่านี้เราสามารถเฝ้าระวังและป้องกันได้ ตามแนวทางป้องกันการจมน้ำในเด็ก ดังนี้
1. จัดสิ่งแวดล้อมในบ้านและบริเวณรอบบ้านให้ปลอดภัยจากการจมน้ำ กำจัดแหล่งน้ำที่ไม่จำเป็น คว่ำกะละมัง และถังน้ำ ปิดฝาโอ่งให้สนิท มีการกั้นบริเวณโดยรั้ว และประตูที่แน่นหนา
2. ผู้ดูแลเด็กเล็กอยู่ในระยะใกล้ชิดที่สามารถมองเห็นและคว้าถึงได้ตลอดเวลา (touch supervision)
3. ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำโดยลำพังในอ่างน้ำ หรือภาชนะบรรจุน้ำใดๆ เพราะการไปทำกิจกรรมอื่นๆเพียงเวลาสั้นๆ เช่น การรับโทรศัพท์ หรือการไปเอาของ กับระดับน้ำเพียง 3 ซม. ก็สามารถคร่าชีวิตเด็กได้
4. “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” สอนเด็กให้รู้จักระวังอันตรายจากแหล่งน้ำโดย อย่าเข้าใกล้แหล่งน้ำ อย่าเก็บของใกล้แหล่งน้ำให้เรียกผู้ใหญ่มาช่วย และอย่าก้มชะโงกดูภาชนะที่ใส่น้ำเพราะอาจพลัดตกลงไปได้
5. เมื่อเด็กอายุ 4 ปี สามารถสอนการลอยตัวและว่ายน้ำระยะสั้นๆได้
6. “ตะโกน โยน ยื่น” เมื่ออายุ 6 ปี สอนเด็กให้รู้จักการใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิต การตะโกนเพื่อขอความช่วยเหลือ โยนอุปกรณ์ช่วยลอยตัว และยื่นอุปกรณ์ให้เกาะ ไม่กระโดดลงไปในน้ำเพื่อช่วยเหลือผู้จมน้ำ รู้จักการประเมินความเสี่ยงของแหล่งน้ำต่างๆ สอนการใช้เสื้อชูชีพเสมอเมื่อทำกิจกรรมในน้ำ หรือคมนาคมทางน้ำ
7. เฝ้าระวังเด็กที่มีโรคประจำตัวต่างๆ ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการจมน้ำ และให้ความรู้แก่เด็กเพื่อป้องกันตนเอง เช่น โรคลมชัก ภาวะออทิสติก โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และเด็กที่มีภาวะพิการทุพพลภาพ
8. ชุมชนมีส่วนร่วมโดยการสอนทักษะการเอาตัวรอดทางน้ำ การใช้อุปกรณ์ชูชีพ การช่วยเหลือผู้จมน้ำอย่างถูกต้อง และการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (CPR)
จังหวัดเชียงใหม่มีต้นแบบโมเดลการป้องกันเด็กจมน้ำได้รางวัลระดับประเทศหลายแห่ง จากโครงการ “ผู้ก่อการดีการป้องกันเด็กจมน้ำ” ได้แก่ อบต.ดอนแก้ว, เทศบาลตำบลลวงเหนือ และ สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า ซึ่งสอนเด็กและเยาวชนให้มีทักษะการเอาตัวรอดทางน้ำและจัดให้มีอุปกรณ์กู้ภัยใกล้แหล่งน้ำ
9. กฎเลข 4 สำหรับการป้องกันการจมน้ำคือ รั้วสูงอย่างน้อย 4 ฟุต (120 ซม.) ทั้ง 4 ด้าน
การป้องกันการจมน้ำ ต้องอาศัยความร่วมมือและช่วยเหลือกันจากทุกคนในสังคม ที่สำคัญคือความตระหนักและความรู้ของผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็ก ซึ่งหากสามารถปฎิบัติตามคำแนะนำข้างต้นได้ ก็จะสามารถลดการสูญเสียได้ เพราะเราเชื่อว่าไม่ควรมีการสูญเสียเด็กจากการจมน้ำแม้แต่คนเดียว และเราสามารถร่วมมือกันทำให้สำเร็จได้