นครพนมวิกฤต ! ครองแชมป์ "คุณภาพอากาศต่ำ" ดาวเทียมพบจุดความร้อนฝั่งเพื่อนบ้าน เผาป่ากระจายเป็นวงกว้าง
31 มี.ค. 2564, 12:44
วันที่ 31 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพอากาศบริเวณจังหวัดนครพนม ว่า มีอากาศร้อน อุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 38.2 องศาเซลเซียส มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ และมีลมกรรโชกแรง กับฟ้าผ่าในบางแห่ง ระดับน้ำโขงวัดได้ 1.40 เมตร ขณะที่สารมลพิษทางอากาศที่ตรวจพบเกินมาตรฐาน ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือค่าฝุ่น PM2.5 (ค่าเฉลี่ย 24 ชม.) เท่ากับ 65 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 137 AQI โดยตรวจพบเกินมาตรฐานที่บริเวณ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม ถือว่า ณ ขณะนี้จังหวัดนครพนมมีมาตรฐานคุณภาพอากาศต่ำ เป็นอันดับหนึ่งในภาคอีสาน
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้พื้นที่จังหวัดนครพนม มีสภาวะอากาศเลวร้ายหลายวันติดต่อกัน จากภาพถ่ายดาวเทียมพบว่านอกจากมีจุดความร้อนจากการเผาไหม้ในพื้นที่จังหวัดนครพนม จำนวน 11 จุด (ข้อมูลวันที่ 30 มีนาคม 2564) แล้ว ยังมีจุดความร้อนจากการเผาไหม้จาก สสป.ลาว ค่อนข้างมาก ในบริเวณพื้นที่ติดกับจังหวัดนครพนม โดยกระจายเป็นวงกว้างจำนวนมาก จึงเกิดค่าค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สูงสุดในภาคอีสานดังกล่าว และมีแนวโน้มทรงตัว
โดยเกณฑ์คุณภาพอากาศฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ทั้งจากยานพาหนะ การเผาวัสดุการเกษตร และกระบวนการอุตสาหกรรม สามารถเข้าไปถึงถุงลมปอดได้ เป็นผลทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ และโรคปอดต่างๆ หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะสะสมในเนื้อเยื่อปอด ทำให้การทำงานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง ทำให้หลอดลมอักเสบ มีอาการหืดหอบ มีดังต่อไปนี้ 0-25 คุณภาพอากาศดีมาก,26-37 คุณภาพอากาศดี,38-50 คุณภาพปานกลาง,51-90 เริ่มมีผลกระทบ และ 91 ขึ้นไปมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ส่วนดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) 1 ค่า ใช้เป็นตัวแทนค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด ได้แก่ 1.ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) 2.ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) 3.ก๊าซโอโซน (O3) 4.ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) 5.ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และ 6.ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) พบว่ามีค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ 137 AQI อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
โดยดัชนีคุณภาพอากาศ 100 AQI จะมีค่าเทียบเท่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกินกว่า 100 แสดงว่าค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศมีค่าเกินมาตรฐาน และคุณภาพอากาศในวันนั้นจะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
ทั้งนี้ ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ตั้งแต่ 0 ถึง 201 AQI ขึ้นไป ซึ่งแต่ละระดับจะใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย คือสีฟ้า 0-25 คุณภาพอากาศดีมาก,สีเขียว 26-50 คุณภาพอากาศดี,สีเหลือง 51-100 คุณภาพปานกลาง,สีส้ม 100-200 เริ่มมีผลกระทบ และสีแดง 201 ขึ้นไปมีผลกระทบต่อสุขภาพ