เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



โฆษกฯ รบ.เผยไทยไม่อยู่ในสถานะความเสี่ยงทางการคลัง ย้ำไม่ปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม


2 เม.ย. 2564, 16:13



โฆษกฯ รบ.เผยไทยไม่อยู่ในสถานะความเสี่ยงทางการคลัง ย้ำไม่ปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม




วันนี้ (2 เม.ย. 2564) เวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา (30 มี.ค. 2564) ซึ่งกระทรวงการคลังได้รายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2563 ว่า เป็นการรายงานประจำปีปกติ ด้วยข้อกฎหมาย ตามมาตรา 78 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังกำหนดว่า ในเดือน มี.ค.ของทุกปีกระทรวงการคลังจะต้องทำรายงานความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการคลังประจำปี แสดงผลการประเมินความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากผลกระทบของเศรษฐกิจมหภาค ระบบการเงิน  นโยบายของรัฐบาลและผลการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐที่อาจจะก่อให้เกิดภาระทางการคลังของรัฐบาลและแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงนั้น ซึ่งเมื่อจัดทำรายงานเสร็จสิ้นแล้วให้นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางและเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ



โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า การรายงานความเสี่ยงดังกล่าวไม่ใช่เพราะประเทศไทยอยู่ในฐานะที่จะต้องประเมินเรื่องความเสี่ยง แต่เป็นการเสนอรายงานประจำปี ซึ่งกระทรวงการคลังได้แจ้งว่า สถานการณ์การคลังยังอยู่ในระดับปกติสอดคล้องกับอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลที่ยังอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการเกิดการแพร่ระบาดของโรค Covid- 19 อีกด้วย  สำหรับการจัดเก็บรายได้ ในช่วงระยะเวลา 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 คาดการณ์ว่า การจัดเก็บรายได้ต่ำ จากสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค Covid- 19 ที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีการขยายระยะเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านระบบอินเตอร์เน็ตหรือในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาด Covid-19 ให้กับประชาชนและบริษัทต่าง ๆ ด้วยซึ่งทำให้รายได้ภาษีบางส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีการย้ายไปชำระในเดือนมีนาคม 2564 แทน  ทำให้ฐานะการคลังของรัฐบาลตามกระแสเงินสดในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 คือเดือนตุลาคม 2563 จนถึง ก.พ. 2564 รัฐบาลได้มีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้นจำนวน 926,770 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 1,460,827 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 386,810 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 516,229 ล้านบาท  ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับ 5 เดือนแรกในปีงบประมาณ 2563 จะเห็นว่า มีอัตราที่มากกว่าถึงร้อยละ 50.8  นอกจากนี้ยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้ใช้จ่ายอีกที่สามารถนำมาเยียวยาประชาชนหรือกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปี 2564  จำนวน  220,000  ล้านบาท  


โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียืนยันว่า รัฐบาลยังไม่คิดที่จะปรับภาษีมูลค่าเพิ่มจากอัตราปัจจุบันที่จะ 7%  ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงจากระบบภาษีการค้ามาเป็นระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อปี 2535 ประเทศไทยได้กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ไว้ที่ร้อยละ 10 ตามประมวลรัษฎากร แต่ได้มีการบรรเทาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีจะออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือร้อยละ 7 เป็นระยะ ๆ ทั้งนี้จากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2563 ให้คงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในแต่ละประเทศมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่แตกต่างกันไป อาทิ  อินโดนีเซีย เวียดนาม และญี่ปุ่นจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตราร้อยละ 10 สิงคโปร์จัดเก็บที่ร้อยละ 7 มาเลเซียจัดเก็บที่ร้อยละ 6  ซึ่งไทยมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ด้านเศรษฐกิจ ไม่เป็นภาระแก่ประชาชนเกินจำเป็น และช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.