"สมาชิกวุฒิสภา" พบปะประชาชนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อการพัฒนาพื้นที่และการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน
3 เม.ย. 2564, 08:49
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 เมษายน 2564 ที่ตำบลวัดตะกู อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภา ลงพื้นที่พบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง นำโดยนายวิทยา ผิวผ่อง รองประธานคณะกรรมการ คนที่หนึ่ง พร้อมด้วยคณะสมาชิกวุฒิสภา ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมและส่งมอบ “ โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Water Pump) ” โดยมี นายพรพจน์ บัณฑิตยานุรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมคณะให้การต้อนรับ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 125,000 บาท จากคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง และกองทุนบรรเทาทุกข์สำหรับช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ของสมาชิกวุฒิสภา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ตำบลวัดตะกู อำเภอบางบาล ในการลดต้นทุนการผลิต และลดค่าใช้จ่ายจากการสูบน้ำเพื่อทำการเกษตร
จากนั้น เวลา 13.30 น. นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เดินทางมาให้การต้อนรับ คณะสมาชิกวุฒิสภา ลงพื้นที่พบผู้บริหารจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หน่วยงานที่เกี่ยวกับการจัดรูปที่ดิน เพื่อการพัฒนาพื้นที่และการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ผู้แทนชุมชน และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่การจัดที่ดินทำกินของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับภารกิจของวุฒิสภาที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ตลอดจนนำเสนอกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หรือประเด็นที่น่าสนใจ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่และการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งมอบอุปกรณ์กีฬาให้แก่โรงเรียนศรีบางไทร ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะนำข้อมูลข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ได้รับจากการลงพื้นที่ไปสู่การดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาต่อไป
ทั้งนี้ โครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประกอบการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย ประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พัฒนากฎหมายให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของประชาชนในพื้นที่ และสะท้อนข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะไปสู่การแก้ไขด้วยกลไกของวุฒิสภา โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ประชาชนในพื้นที่ระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ กลุ่มการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน รวมถึงสื่อมวลชน ในพื้นที่ 7 ภูมิภาค รวม 76 จังหวัด โดยในส่วนของภาคกลางมีพื้นที่ดำเนินการ 17 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร