นายกฯ เป็นประธาน ประชุมมอบนโยบายสำคัญของรัฐบาล-มท. แก่ผู้ว่าฯ-นายกอบจ.ใหม่
5 เม.ย. 2564, 10:26
วันนี้ (5 เมษายน 2564) เวลา 09.30 น. ณ ห้องคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ชั้น 4 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในการมอบนโยบายสำคัญของรัฐบาลให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่ เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ภายใต้กรอบแนวคิด “ท้องถิ่นไทย รวมไทย สร้างชาติ” โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ที่ผ่านมารัฐบาลบริหารผ่านกลไกส่วนภูมิภาค โดยผู้ว่าราชการจังหวัด และส่วนท้องถิ่นโดยผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ด้วยความสามัคคีของทุกภาคส่วนให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อสร้างชาติ ตามแนวคิด “ท้องถิ่นไทย รวมไทย สร้างชาติ”
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงความสำคัญกระแสการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ของโลก หรือ เมกะ เทรนด์ (Mega Trend) ซึ่งมี 6 ประเด็น ได้แก่
1) การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ซึ่งประเทศไทยเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงอายุ” อย่างสมบูรณ์ ประชากรวัยแรงงานลดลง จึงจำเป็นต้องมีการยกระดับศักยภาพแรงงาน เพิ่มผลิตภาพของแรงงานในทุกภาคส่วน ทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและบริการและผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย รวมถึงทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต เช่น ทักษะด้านดิจิทัล ทักษะด้านการวิเคราะห์สถานการณ์และข้อมูลเพื่อให้ประเทศไทยมีกำลังแรงงานที่มีศักยภาพเพียงพออย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งทั้งต่อตนเอง สังคมและประเทศชาติ
2) การเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพและสาธารณสุข จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว ทั้งในด้านการป้องกันการแพร่ระบาด การดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และการปรับวิธีคิดเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลง
3) การเปลี่ยนแปลงทางภาวะเศรษฐกิจ ต้องส่งเสริมการกระจายรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวสู่ชุมชน โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ
4) การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างผลิกผัน (Disruption) เพื่อก้าวสู่โลกดิจิทัล การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิต การดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการบริหารงาน ทั้งภาคราชการและเอกชน ต้องนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ส่งเสริมให้ประชาชนปรับตัวและก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรู้เท่าทัน
5) การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ การสร้างแนวทางการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรธรรมชาติ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ บนฐานองค์ความรู้และข้อมูลสำคัญ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายและการกำหนดแนวปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป โดยเฉพาะการขับเคลื่อนประเทศไทย ไปสู่เกษตร เศรษฐกิจ BCG เป็นการนำวัสดุเหลือใช้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาชีพและรายได้ให้กับประชาชน
6) การแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ เน้นการแก้ไขปัญหารายได้ครัวเรือน รวมทั้งให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในเรื่องของการบริการสาธารณะ โดยมอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยบูรณาการดำเนินการให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่รวมทั้งสามารถบริหารจัดการงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีว่า เป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศในระยะยาว ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ตามยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน มุ่งผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ส่วนรวม ตอบสนองความต้องการของประชาชน เป็นภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ โปร่งใส มีส่วนร่วม และบูรณาการและเชื่อมโยงการพัฒนาในทุกระดับ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในท้องถิ่น ในประเทศ ปรับวิกฤตให้เป็นโอกาส ให้สามารถ “ล้มแล้วลุกเร็ว” ผ่านมิติการพัฒนา 3 ประการ ได้แก่ การพร้อมรับ การปรับตัว และการเปลี่ยนแปลงเพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรียังย้ำในตอนท้ายว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศจะต้องผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน บูรณาการการดำเนินการร่วมกัน เพื่อรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในฐานะ “ทีมประเทศไทย” เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันในทุกด้าน และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ก้าวไปสู่วิสัยทัศน์ "มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" ต่อไป
อนึ่ง ช่วงบ่าย วันนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมมอบนโยบายสำคัญของรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมมอบนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทย และนายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ร่วมชี้แจงการจัดทำงบประมาณของจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัด แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ด้วย