ผู้ว่าฯกาญจน์ ปรับระดับพื้นที่สถานการณ์-มาตรการป้องกันโควิด-19 เป็นพื้นที่ควบคุม
17 เม.ย. 2564, 17:32
วันนี้ 17 เม.ย.64 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดกาญจนบุรี ได้ออกคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี ที่ 1791/2564 เรื่อง การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ของจังหวัดกาญจนบุรี และการปรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไว้รัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่ควบคุม
โดยระบุว่า อนุสนธิคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี ที่ 1005/2564 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 เรื่อง มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง นั้น
โดยที่จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมและผู้ติดเชื้อรายใหม่ซึ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศได้เพิ่มจำนวนขึ้น อย่างต่อเนื่อง และการระบาดระลอกใหม่นี้ได้กระจายออกไปในหลายพื้นที่ค่อนข้างรวดเร็ว รัฐบาลโดยข้อเสนอ ของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติม การบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน รวมทั้ง ปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ในจังหวัด ที่ได้ตรวจพบการระบาดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุม เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการสกัดกั้นและระงับยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที ประกอบกับนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 จึงออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราช กำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2564 โดยกำหนดให้จังหวัดกาญจนบุรีเป็นพื้นที่ควบคุม จังหวัดกาญจนบุรีจึงยกเลิกคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี ที่ 1005/2564 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 เรื่อง กำหนดพื้นที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง และอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 และ 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และข้อ 7 (1) ของข้อกำหนดออกตามความ ในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2563 และข้อ 8 (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2563
จังหวัดกาญจนบุรี จึงกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่ควบคุม ดังต่อไปนี้
1.การห้ามการดำเนินการหรือจัดกิจกรรมหรือที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค 1.1 ห้ามการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่โรค เว้นแต่การใช้เป็นที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือการใช้เป็นสถานที่เพื่อให้ความช่วยเหลืออุปการะ หรือการใช้สถานที่ตามข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ในข้อ 1 ของข้อกำหนด (ฉบับที่ 16) ลงวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2564
1.2 ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมตัวกันมากกว่า 50 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกิจกรรม ในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี แล้วแต่กรณี กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานที่ในพื้นที่รับผิดชอบ
2. มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ การจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ กำหนดมาตรการควบคุมที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ และระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางมาตรการกำหนด เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน ดังนี้ 2.1 การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้การบริการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม และการบริโภคในร้านได้ ไม่เกินเวลา 23.00 น. โดยให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดโดยเคร่งครัด
2.2 การจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับร้านอาหารหรือสถานที่จำหน่ายสุรา ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน 2.3 ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ จนถึงเวลา 21.00 น.และให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย โดยให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดโดยเคร่งครัด ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกมและสวนสนุก และที่มีลักษณะคล้ายกัน ที่งดการให้บริการ
3. การขอความร่วมมือประชาชน เจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบการ ดังนี้ 3.1 งดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทาง ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางในช่วงเวลานี้ โดยไม่มีเหตุจำเป็น โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรคที่อาจทำให้เสี่ยงหรือมีโอกาสติดโรค
กรณีประชาชนที่เดินทางมาจากจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ราชการกำหนด โดยต้องรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในท้องที่ เพื่อรับการตรวจ คัดกรองและต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้ ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ ติดตามและกำกับ ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
3.2 จัดกิจกรรมทางสังคม ให้ประชาชนงดการจัดกิจกรรมทางสังคมในลักษณะที่เป็นงานสังสรรค์ งานเลี้ยง หรืองานรื่นเริงในช่วงเวลานี้ เว้นแต่เป็นการจัดพิธีการตามประเพณีนิยมและมีมาตรการป้องกันโรค ที่เพียงพอเพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ
3.3 การดำเนินรูปแบบการปฏิบัติงานที่เหมาะสม ให้เจ้าของกิจการผู้ประกอบการภาคเอกชนพิจารณาและดำเนินรูปแบบการปฏิบัติงานของบุคลากรในความรับผิดชอบในช่วงเวลานี้ โดยอาจเป็นการปฏิบัติงาน นอกสถานที่ตั้ง การสลับวันทำงาน หรือวิธีการอื่นใดที่เหมาะสม เพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ
4. การประเมินความเหมาะสมของมาตรการ เพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ของพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีอาจพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อในการสั่งปิด จำกัด หรือ ห้ามการดำเนินการของพื้นที่ สถานที่ หรือพาหนะ หรือสั่งให้งดการทำกิจกรรมซึ่งมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคในเขตพื้นที่รับผิดชอบเพิ่มเติมจากที่กำหนดได้ โดยให้ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรการหรือแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
ทั้งนี้ หากมีผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 และ ข้อ 2 อาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อนึ่ง ประกาศหรือคำสั่งใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้ใช้คำสั่งนี้แทน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สั่ง ณ วันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2564