กรมวิทย์ตรวจซ้ำ หาความยั่งยืนภูมิคุ้มกันโควิด-19 ของชาวตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร
20 เม.ย. 2564, 15:20
เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.ของวันที่ 20 เมษายน 2564 ดร.วริษฐา แสวงดี นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อทำการตรวจหาภูมิคุ้มกันโควิด 19 เป็นครั้งที่ 2 ของผู้ที่เคยผ่านการตรวจหาภูมิโควิดมาแล้วเมื่อวันที่ 8 – 9 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ตลาดกลางกุ้งฯ โดยมีเป้าหมายครั้งนี้อยู่ที่ 1,000 ราย จากจำนวนผู้ที่เคยทำการตรวจในครั้งแรกทั้งหมด 1,546 ราย ซึ่งก็มีทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติ
สำหรับ การตรวจหาภูมิป้องกันโควิด–19 ในครั้งที่ 2 นี้ ก็สืบเนื่องจากทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีโครงการที่จะศึกษาปัจจัยทางภูมิคุ้มกันและพันธุกรรม ของผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดการแสดงออกของโรคแตกต่างกัน ทำให้บางคนมีอาการเล็กน้อย บางคนไม่ปรากฏอาการ และบางคนอาการหนักต้องเข้าโรงพยาบาล ภายใต้การตั้งสมมติฐานที่ว่า น่าจะมีปัจจัยบางอย่างในร่างกายของตัวมนุษย์เอง ที่ส่งผลให้เกิดการแสดงออกของโรคไม่เหมือนกัน ดังนั้นทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ จึงได้เข้ามาดำเนินการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 จากกลุ่มที่เคยติดเชื้อ รวมถึงผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อแล้วยังไม่เคยป่วยด้วยอาการโควิด-19
ซึ่งในการตรวจหาภูมิครั้งแรกแม้จะพบว่าบางคนมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น แต่บางคนกลับไม่พบภูมิคุ้มกัน จึงนำไปสู่การตั้งสมมติฐานและค้นหาข้อมูลวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยการสร้างภูมิคุ้มกันด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจหาภูมิในกลุ่มตัวอย่างซ้ำเป็นครั้งที่สองนี้ เพราะนอกจากจะเพื่อดูความแข็งแรงหรือประสิทธิภาพความยั่งยืนของภูมิคุ้มกันว่าสามารถอยู่ได้นานเท่าไหร่แล้ว ยังเพื่อศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยและระยะเวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกันอีกด้วย