"ผู้ว่าฯสุราษฎร์" ลงพื้นที่ให้กำลังใจแพทย์พยาบาลและผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยราชภัฎฯ
23 เม.ย. 2564, 15:00
ผู้สื่อข่าว ONBnews รายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 22 เมษายน 2564 นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมนายแพทย์มนู ศุกลสกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และนายจำนง สวัสดิ์วงศ์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี เดินทางไปตรวจดูการปฎิบัติงานของโรงพยาบาลสนามสุราษฎร์ธานี ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งผู้ป่วยที่ส่งมาพักดูอาการ โดยได้มีการสื่อสารพูดคุยและให้กำลังผู้ป่วยผ่านกล้องหุ่นยนต์
ปัจจุบัน โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มีนายแพทย์ดิเรก เอกบวรวงศ์ หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านผลิตบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี เป็นหัวหน้าชุด มีผู้ป่วยเข้าพัก 88 ราย แยกส่วนผู้ชายและผู้หญิงมีห้องปฏิบัติการแพทย์และพยาบาลตลอดหน้าที่ 24 ชั่วโมงโดยใช้กล้องจากหุ่นยนต์สื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ หรือโทรศัพท์มือถือในการติดต่อฃได้ตลอดเวลา ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการและบางรายไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ โดยเป็นการกักตัวเพื่อดูอาการตามระยะเวลา 14 วัน สำหรับแพทย์และพยาบาลต้องพักอยู่ที่นี้เช่นกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้นำเตียงไม้มาเตรียมสำรองไว้รองรับได้ประมาณ 300 เตียง
นายแพทย์มนู ศุกลสกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานีกล่าวว่า ก่อนจะตั้งโรงพยาบาลสนามสุราษฎร์ธานี จะมีการดูความพร้อมสถานที่และระบบต่างๆจึงยืนยันได้มีความปลอดภัย และมีเกณฑ์มาตรฐานสาธารณสุข
ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบไดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยราชัฎสุราษฎร์ธานี ใช้พื้นที่โล่งใต้อาคารหอประชุมใหญ่ สามารถรองรับได้ 300 เตียงกั้นเป็นพื้นที่ปิดเข้าออกที่ประตู 3 มีการล้อมรั้วแยกเขตชัดเจนห้ามบุคคลายนอกเข้า และไม่ปะปนกับพื้นที่ปกติของบุคลากรมหาวิทยาลัยที่เข้าทางประตู 1 ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงที่มหาวิทยาลัยปิดภาคเรียนและบุคลากรให้ทำงานที่บ้าน จึงใช้พื้นที่ตอบสนองสาธารณสุขเพื่อรักษาประชาชน
ผู้ป่วยหญิงรายหนึ่ง อายุ 32 ปี ชาว อ.เคียนซา กล่าวผ่านระบบสื่อสารหุ่นยนต์ว่า เป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการป่วยใดๆและไม่ต้องใช้ยาความเป็นอยู่ปรับตัวได้กินอยู่นอนหลับสบายมากไม่มีความกังวลสามารถติดต่อกับครอบครัวได้ ที่นี้อาหารดี ห้องสุขาสะอาดสะดวก ที่สำคัญสามารถควบคุมอาหารทำให้น้ำหนักลดลงได้ถึง 10 กิโลกรัม
ด้านนายธนรักษ์ เจริญจิตร์ หรือผู้ใหญ่จ้อง แจ้งว่า หลังจากเข้ากักตัวที่โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นวันที่ 4 ปกติดีทุกอย่าง ไม่มีไข้ ปฏิบัติตามระเบียบสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่ในห้องใช้ระบบวัดความดัน มีการวัดอุณหภูมิ วัดค่าออกซิเจน วันละ 2 รอบและจ่ายยาเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว
ในวันเดียวกันนี้มีรายงานจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ 48 ราย ส่วนการค้นหาเชิงรุกกลุ่มผู้เสี่ยงสูงด้วยรถตรวจชีวนิรภัยพระราชทานที่วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี 3 วันทั้งหมด จำนวน 631 รายพบเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด 25 รายอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง 22 รายอ.พุนพิน 2 รายและ อ.กาญจนดิษฐ์อีก 1 ราย