เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ศบค.มท.แถลงชี้แจงการคุมโควิด-19 เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้


24 เม.ย. 2564, 13:17



ศบค.มท.แถลงชี้แจงการคุมโควิด-19 เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้




วันที่ 24 เมษายน 2564 เวลา 12.17 น. นายสมคิด จันทมฤก โฆษกกระทรวงมหาดไทย และผู้อำนวยการสำนักงานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) กล่าวว่า กรณีนักวิชาการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีข้อเรียกร้องทั้งสิ้น 6 ประเด็น โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานกระทรวงมหาดไทย 1 ประเด็น ก็คือ ประเด็นที่หนึ่ง เรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้นั้น

นายสมคิด กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้ กระทรวงมหาดไทย ในฐานะ ศบค.มท. ได้มีบทบาทในการขับเคลื่อนมาตรการของ ศบค.มท. และขับเคลื่อนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด บูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อดำเนินการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด โดยมีข้อสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด รวมทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดำเนินการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรค ซึ่งมีมาตรการสำคัญอยู่ 3 มาตรการ 



1.มาตรการสกัดกั้นเชื้อจากต่างประเทศ ในพื้นที่ชายแดนให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด ประสานการปฏิบัติวางมาตรการร่วมกับทหารในพื้นที่ ตำรวจตระเวนชายแดน กองกำลังป้องกันชายแดนให้เข้มงวด ควบคุมการลักลอบเข้าประเทศ เพิ่มการลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวังและสกัดกั้นป้องกันไม่ให้มีการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ตามช่องทางธรรมชาติบริเวณพื้นที่ชายแดน หากพบการลักลอบเข้าประเทศให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่วนการปฏิบัติในพื้นที่ตอนใน ให้ประสานกับตำรวจภูธรจังหวัด สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งจุดตรวจ จุดสกัดคัดกรองโรค บุคคล และการขนส่งสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้าเมือง คัดกรองรถขนส่งสินค้า รวมทั้งให้มีผู้บัญชาการเหตุการณ์ประจำช่องทางผ่านแดนทุกแห่ง ที่มีการอนุญาตให้ใช้การผ่านทางเข้าออกของบุคคล สินค้าและยานพาหนะที่ชัดเจน สามารถปฏิบัติงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนการปฏิบัติงานในพื้นที่ชุมชนให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครในพื้นที่ร่วมกันตรวจสอบบุคคลที่เดินทางเข้ามาในหมู่บ้านชุมชน หากพบแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ให้ประสานหน่วยงานความมั่นคงดำเนินการตามกฎหมายทันที ส่วนจังหวัดชั้นในให้ตั้งจุดตรวจ จุดสกัดคัดกรองโรค โดยประสานการปฏิบัติกับตำรวจภูธรจังหวัด กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสกัดกั้นการเดินทางเข้าออกและการเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว


2.มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ ทั้งในพื้นที่จังหวัดและกรุงเทพมหานคร จากข้อกำหนดฉบับที่ 20 ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ได้กำหนดพื้นที่สถานการณ์ออกเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด รวมกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ควบคุม 59 จังหวัด โดยมีมาตรการที่สำคัญ ได้แก่ 

(1)ปิดพื้นที่เสี่ยง อาทิ สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อาบอบนวด หรือสถานบริการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน 

(2)งดกิจกรรมเสี่ยง โดยห้ามการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ที่จัดการเรียน การสอน การสอบ การฝึกอบรมหรือดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกิจกรรมที่พื้นที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยให้ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด งดจัดกิจกรรมทางสังคมในลักษณะที่เป็นงานสังสรรค์ งานเลี้ยง งานรื่นเริง เว้นแต่เป็นการจัดพิธีการตามประเพณีนิยม และมีมาตรการป้องกันโรคที่้เพียงพอ เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ

(3)งดหรือเลี่ยงการเดินทาง โดยขอความร่วมมือให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางโดยไม่มีเหตุจำเป็น โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรคหรืออาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อ

ในกรณีที่พบว่าผู้ป่วยจะได้รับเชื้อจากภายในชุมชนที่ใช้ชีวิตหรืออาศัยอยู่ ซึ่งในชุมชนอาจจะมีผู้ป่วยรายอื่นหรือมีการระบาดเกิดขึ้นในพื้นที่จึงมีความจำเป็นที่จะต้องค้นหาเชิงรุกภายในชุมชนนั้น ๆ เพื่อค้นหาและดำเนินการแยกผู้ป่วยโดยเร็ว ประการต่อไปเป็นเรื่องของการแยกผู้ป่วยติดเชื้อ โดยดำเนินการจัดหาสถานที่เพื่อใช้เป็นสถานที่รองรับดูแลรักษาและกักกันผู้ติดเชื้อ หรือผู้มีเหตุอันสงสัย โดยขอความร่วมมือจากสถานศึกษา มหาวิทยาลัย โรงแรม หอประชุม สถานที่ของเอกชนหรือสถานที่อื่นใด ที่มีความเหมาะสม รวมทั้งเตรียมความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ วัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการบริหารจัดการ

3.มาตรการการรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ D-M-H-T-T-A คือ การเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากาก การล้างมือบ่อย ๆ ตรวจวัดอุณหภูมิ ตรวจหาเชื้อโควิด-19 และการใช้แอพพลิเคชั่นไทยชนะหรือหมอชนะอย่างเคร่งครัด

 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.