เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



น้อมรำลึก 25 เมษายน วันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรมหาราช


25 เม.ย. 2564, 18:08



น้อมรำลึก 25 เมษายน วันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรมหาราช




วันนี้ตรงกับวันที่ 25 เมษายน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวันที่คนไทยควรร่วมน้อมรำลึกถึง เนื่องจากวันที่ 25 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่และกล้าหาญ ในอดีตพระองค์ได้กอบกู้อิสรภาพของไทย และทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนปกปักรักษาเอกราชของชาติ จนทำให้มีประเทศไทยอย่างเช่นทุกวันนี้ 

(ภาพจาก huso.kpru.ac.th)

สำหรับประวัติของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพระนามเดิมว่า พระองค์ดำ ค่ะ ทรงเป็นโอรสของ สมเด็จพระมหาธรรมราชา และ พระวิสุทธิกษัตริย์ (พระราชธิดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) พระองค์เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลก ทรงมีพระเชษฐภคิณีคือพระสุพรรณกัลยา และทรงมีพระอนุชาคือสมเด็จพระเอกาทศรถ(องค์ขาว) ดังนั้นพระองค์จึงทรงเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระนามของพระองค์ปรากฏในลายลักษณ์อักษรหลายฉบับ เช่น พระนเรศ วรราชาธิราช พระนเรสส องค์ดำ จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าพระนาม นเรศวรได้มาจากที่ใด สันนิษฐานเบื้องต้นว่า เพี้ยนมาจาก สมเด็จพระนเรศ วรราชาธิราช เป็น สมเด็จพระนเรศวร ราชาธิราช



การครองราชย์ ราชวงศ์ ราชวงศ์สุโขทัย  ทรงครองราชย์ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133 - 25 เมษายน พ.ศ. 2148
ระยะเวลาครองราชย์ 15 ปี รัชกาลก่อนหน้า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช  รัชกาลถัดมา สมเด็จพระเอกาทศรถ

พระราชประวัติเมื่อทรงพระเยาว์กับชีวิตและการศึกษาในหงสาวดี

ตลอดระยะเวลาในวัยเยาว์ของพระนเรศวรทรงใช้ชีวิตอยู่ในพระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเมืองพิษณุโลกยอมอ่อนน้อมต่อแห่งหงสาวดี และทำให้พิษณุโลกต้องแปรสภาพเป็นเมืองประเทศราชหงสาวดีไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบุเรงนองได้ทรงขอพระนเรศวรไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดี ทำให้พระองค์ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนตั้งแต่มีพระชนม์มายุเพียง 9 พรรษา
   
นอกจากพระองค์แล้วยังมีองค์ประกันจากเมืองอื่น ๆ ที่เป็นเมืองขึ้นของหงสาวดีเป็นจำนวนมาก พระเจ้าบุเรงนองนั้น ทรงให้เหล่าองค์ประกันได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอย่างดี

พระนเรศวรทรงใช้เวลา 8 ปีเต็มในหงสาวดี ศึกษายุทธศาสตร์ของพม่า พระองค์ทรงศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ และวิชาพิชัยสงคราม ทรงนิยมในวิชาการรบทัพจับศึก พระองค์ทรงมีโอกาสศึกษา ทั้งภายในราชสำนักไทย และราชสำนักพม่า มอญ และได้ทราบยุทธวิธีของชาวต่างชาติต่าง ๆ ที่มารวมกันอยู่ในกรุงหงสาวดีเป็นอย่างดี เช่น ชาวโปรตุเกส สเปน หรือชาวพม่าเอง ทรงนำหลักวิชามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับเหตุการณ์ และสภาพแวดล้อมในการทำศึกได้เป็นเลิศ ดังเห็นได้จากการสงครามทุกครั้งของพระองค์ ยุทธวิธีที่ทรงใช้ ได้แก่ การใช้คนจำนวนน้อยเอาชนะคนจำนวนมาก และยุทธวิธีการรบแบบกองโจร พระองค์ทรงนำมาใช้ก่อนจอมทัพที่เลื่องชื่อในยุโรป

นอกจากนั้น หลักการสงครามที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เช่น การดำรงความมุ่งหมาย หลักการรุก การออมกำลัง และการรวมกำลัง การดำเนินกลยุทธ ความเด็ดขาดในการบังคับบัญชา การระวังป้องกัน การจู่โจม ฯลฯ พระองค์ก็ทรงนำมาใช้อย่างเชี่ยวชาญ และประสบผลสำเร็จอย่างงดงามมาโดยตลอด เนื่องจากการที่พระองค์มีชีวิตอยู่ในฐานะองค์ประกันทำให้ทรงมีความกดดันสูงจากมังกะยอชวา (พระราชโอรสในพระเจ้านันทบุเรง) จึงทรงมีแรงผลักดันที่จะกอบกู้อิสรภาพให้กับบ้านเมืองของพระองค์ เช่น จากการชนไก่ของพระองค์กับมังกะยอชวา เป็นต้น รวมทั้งการเหยียดหยามว่าเป็นเชลย จากพวกพม่าด้วย

 


ยุทธหัตถี

นับตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพเป็นต้นมา หงสาวดีได้เพียรส่งกองทัพเข้ามาหลายครั้ง แต่ก็ถูกกองทัพกรุงศรีอยุธยาตีแตกพ่ายไปทุกครั้ง เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชา เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2133 พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133 เมื่อพระชนมายุได้ 35 พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนเรศวร หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2 และโปรดเกล้า ฯ ให้พระเอกาทศรถ พระอนุชา ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช แต่มีศักดิ์เสมอพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง

ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากหงสาวดี และได้ทำสงครามกับอริราชศัตรูทั้งพม่าและเขมร จนราชอาณาจักรไทยเป็นปึกแผ่นมั่นคง ขยายพระราชอาณาเขตออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาลกว่าครั้งใดในอดีตที่ผ่านมา งานสงครามในรัชสมัยของพระองค์ ทั้งในดินแดนไทยและดินแดนข้าศึก ได้ชัยชนะทุกครั้ง ทรงมีพระปรีชาสามารถในการนำทัพ ทรงริเริ่มนำยุทธวิธีแบบใหม่มาใช้ในการทำสงคราม และเปลี่ยนแนวความคิดจากการตั้งรับมาเป็นการรุก และริเริ่มการใช้วิธีรบนอกแบบ
   
ภาพแกะสลักนูนต่ำจำลองเหตุการณ์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวร ณ ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ที่ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรีการสงครามกับพม่าครั้งสำคัญที่ทำให้พม่าไม่กล้ายกทัพมารุกรานไทยอีกเลย เป็นเวลาเกือบสองร้อยปีคือ สงครามยุทธหัตถี เมื่อปี พ.ศ. 2135 นั่นคือเมื่อหงสาวดีนำโดยพระมหาอุปราชามังสามเกียดยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง สมเด็จพระนเรศวรก็นำทัพออกไปจนปะทะกันที่หนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี บ้างก็ว่าจังหวัดกาญจนบุรี สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาจนกระทั่งสามารถเอาพระแสงง้าวฟันพระมหาอุปราชาขาดสะพายแล่ง สิ้นพระชนม์อยู่กับคอช้างนั่นเอง

 
พระราชกรณียกิจ

พ.ศ. 2113 เสด็จออกร่วมรบกับทหารโดยขับไล่กองทัพเขมรได้สำเร็จ
พ.ศ. 2114 ได้รับสถาปนาให้ปกครองเมืองพิษณุโลก เมื่อพระชนมายุ 16 พรรษา
พ.ศ. 2117 เสด็จไปรบที่เวียงจันทน์ เผอิญทรงประชวรเป็นไข้ทรพิษจึงเสด็จกลับ
พ.ศ. 2121 ทรงทำสงครามขับไล่พระยาจีนจันตุออกไปจากกรุงศรีอยุธยา
 พ.ศ. 2127 ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง และกวาดต้อนคนไทยกลับพระนคร
พ.ศ. 2127-พ.ศ. 2130 พม่ายกกองทัพมาตีไทยถึง 4 ครั้ง แต่ถูกไทยตีแตกพ่ายกลับไป
พ.ศ. 2133 ทรงเสด็จครองราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยาเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา
พ.ศ. 2135 ทรงทำสงครามยุทธหัตถี และมังกะยอชะวา สิ้นพระชนม์
พ.ศ. 2136 ทรงยกกองทัพไปตีเขมรและจับพระยาละแวกทำพิธีปฐมกรรม
พ.ศ. 2138 และ พ.ศ. 2141 ทรงกรีฑาทัพไปตีกรุงหงสาวดี ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
พ.ศ. 2148 ทรงกรีฑาทัพไปตีกรุงอังวะ เมื่อไปถึงเมืองหางหรือเมืองห้างหลวง ทรงพระประชวร เป็นหัวระลอกขึ้นที่พระพักตร์ เสด็จสวรรคต ณ ทุ่งแก้ว เมืองห้างหลวง ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง พระชนมายุ 50 พรรษา ครองราชย์สมบัติได้ 15 ปี
 
สวรรคต

พ.ศ. 2137 พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงก็ให้พระเจ้าแปรมาตีกรุงศรีอยุธยาแต่ก็แตกทัพกลับไป พ.ศ. 2142 เสด็จออกไปตีกรุงหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีหนีไปเมืองตองอู กองทัพอยุธยาตามไปถึงเมืองตองอูแต่ขาดเสบียง พ.ศ. 2147 ยกกองทัพไปกรุงหงสาวดีอีกครั้งถึงเมืองหาง (ในพงศาวดารบางฉบับว่าเมืองห้างหลวง) อันเป็นเมืองอยู่ชายพระราชอาณาเขตในสมัยนั้น เมื่อปลายเดือน 5 ปีมะเส็ง พ.ศ.2148 ได้เสด็จประทับแรมอยู่ ณ ตำบลทุ่งแก้ว เกิดประชวรเป็นหัวระลอกขึ้น (บ้างว่าถูกตัวสัตว์พวกแมลงมีพิษต่อย) ที่พระพักตร์แล้วเลยเป็นบาดพิษจนเสด็จสวรรคตที่เมืองหาง

เมื่อวันจันทร์ เดือน 6 ขึ้น 8 ค่ำ พ.ศ. 2148 เรื่องวันสวรรคตนี้มีรายละเอียดกล่าวต่างกัน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า เสด็จสวรรคตวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 เพลาชายแล้ว 2 บาท ปีมะเส็ง ในหนังสือ A History of Siam ของ W.A.R. Wood กล่าวว่าสวรรคตวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1605 (พ.ศ. 2148) พระชันษาได้ 50 ปี เสวยราชสมบัติได้ 15 ปี

ขอบคุณข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยนเรศวร / hongpakraiwan






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.