งานวิจัยเผย หากอยู่ในอาคารสถานที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท มีความเสี่ยงติดเชื้อสูง
26 เม.ย. 2564, 15:41
สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT) ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เผยรายงานการวิจัย โดย มาร์ติน ซี. บาเซนต์ ศาสตราจารย์ภาควิศวกรรมเคมี-คณิตศาสตร์ประยุกต์ และ จอห์น ดับเบิลยู.เอ็ม. บุช นักคณิตศาสตร์ประยุกต์ ได้พัฒนาวิธีการคำนวณความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อโควิด 19 ภายในสถานที่ปิด จากปัจจัยต่าง ๆ ที่ครอบคลุม ได้แก่ ระยะเวลาที่อยู่ในอาคาร ตัวกรองอากาศ การไหลเวียนของอากาศ ภูมิคุ้มกัน สายพันธุ์ของเชื้อ การใช้หน้ากากอนามัย รวมไปถึงกิจกรรมที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่การหายใจ การกิน การพูด หรือการร้องเพลง
จากการศึกษาของบาเซนต์และบุช พบว่า เมื่ออยู่ในอาคารสถานที่ปิด การเว้นระยะห่างทางสังคม อาจไม่เป็นประโยชน์ที่จะลดการเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ ไม่ว่าจะอยู่ห่าง 6 ฟุต (ราว 2 เมตร) หรือไกลถึง 60 ฟุต (ราว 20 เมตร) ก็มีโอกาสติดเชื้อได้เช่นเดียวกัน ประเด็นสำคัญไม่ใช่เรื่องระยะห่าง แต่คือระยะเวลาที่ใช้ร่วมกัน ยิ่งอยู่กับผู้มีเชื้อนาน โอกาสติดก็ยิ่งสูงมากขึ้น
ยกตัวอย่าง เช่น การนั่งในร้านอาหาร หรือทำงานในห้องเดียวกันเป็นระยะเวลานาน โดยที่อากาศไม่ถ่ายเท มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อสูง แม้ว่าจะสวมใส่หน้ากากอนามัย เนื่องจากเมื่อมีคนพูดคุย หายใจ หรือตอนถอดแมสก์ออกเพื่อดื่มน้ำ กินอาหาร ละอองของเชื้อจะเดินทางผ่านอากาศหมุนเวียนอยู่ในห้องการเปิดหน้าต่างหรือใช้พัดลมช่วยให้อากาศถ่ายเท และจะเป็นประโยชน์มากกว่าการใช้ระบบกรองอากาศ
ด้วยเหตุนี้ บาเซนต์ เผยว่า ดังนั้นการมุ่งเน้นแนะนำวิธีหลีกเลี่ยงและป้องกันความเสี่ยงจากโควิด 19 ไปที่เรื่องของระยะห่าง หรือการล้างมือบ่อย ๆ ตั้งแต่แรกนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะโอกาสที่เชื้อจะแพร่เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจโดยตรงเมื่ออยู่ในอาคารปิดร่วมกันนั้น อาจจะมีบทบาทสำคัญในการแพร่กระจายเชื้อที่ควรให้ความตระหนักมากกว่า
"ระยะห่างไม่ได้ช่วยคุณมากขนาดนั้น และยังทำให้คุณรู้สึกปลอดภัยอย่างผิด ๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ระยะห่าง 6 ฟุต หรือ 60 ฟุต หากคุณอยู่ในอาคารสถานที่ปิดร่วมกัน ทุกคนในพื้นที่นั้นก็มีความเสี่ยงเท่า ๆ กันจริง ๆ" บาเซนต์ กล่าว