เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



เปิดศูนย์ 191 เพิ่มช่องทางแจ้งเหตุผู้ป่วยโควิด


28 เม.ย. 2564, 14:32



เปิดศูนย์ 191 เพิ่มช่องทางแจ้งเหตุผู้ป่วยโควิด




เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการแถลงเปิดศูนย์ 191 เพื่อเพิ่มช่องทางในการรับแจ้งเหตุผู้ป่วยโควิด-19 ส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานทางการแพทย์ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เปิดเผยว่า หลังรับคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ตำรวจเปิดศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ช่วยรับแจ้งเหตุผู้ป่วยโควิด 19 เพื่อแบ่งเบาภาระสายด่วน 1168, 1669, 1330  ของหน่วยงานทางการแพทย์ 


มีการหารือจนได้ข้อสรุป พร้อมเปิดศูนย์ 191 วันนี้ทั่วประเทศ ให้สามารถรับแจ้งข้อมูลป่วยโควิด-19 ซึ่งจะมี 1,200 คู่สาย มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะใช้ระบบ Government Big Data institute (GBDi) ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวง DE พัฒนาร่วมกันเพื่อเป็นตัวกลางในการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพฯ หากมีผู้ป่วยโทรมายังศูนย์ 191 (ศูนย์ผ่านฟ้า บช.น.) เจ้าหน้าที่จะสอบถามข้อมูลผู้แจ้งจากชุดคำถามที่กำหนดโดยกรมควบคุมโรค บันทึกข้อมูลลงระบบ GBDi จากนั้นระบบจะแจ้งไปยังศูนย์ 1668 และ 1669 ทันที ซึ่งเราได้มีการทดสอบระบบแล้ว สามารถเชื่อมข้อมูลกันได้อย่างดี  หากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ศูนย์ 191 จะวิทยุสื่อสารไปยังศูนย์เอราวัณ 1669 เพื่อจัดรถฉุกเฉินมารับตัวผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด หลังจากรับแจ้งเหตุ 30 นาที จะมีการ Call Back ไปยังผู้แจ้ง สอบถามสถานะรับตัวผู้ป่วยอีกครั้งว่าได้รับการบริการหรือยัง หากยังก็จะช่วยประสานอย่างใกล้ชิด 



สำหรับจังหวัดอื่น เจ้าหน้าที่ศูนย์ 191 จะประสานโดยตรงไปยังสาธารณสุขจังหวัดหรือหัวหน้าศูนย์ 1669 เพื่อส่งต่อข้อมูลผู้ป่วย 
 สำหรับวิทยุสื่อสารนั้น จะใช้ระบบดิจิทัล หรือ PS-LTE เนื่องจากมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง ซึ่งจะเป็นการรักษาความลับของผู้ป่วยและคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของผู้ป่วย อีกทั้งยังทราบพิกัดของผู้ใช้งาน และเปิดกล้องวีดีโอเหมือนโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อีกด้วย โดย ตร. ได้สนับสนุนเครื่องวิทยุ PS-LTE ให้กับ สพฉ.จำนวน 100 เครื่อง เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ระหว่างรถรับส่งผู้ป่วย และ ศูนย์ทั้ง 3 ศูนย์ (1668, 1669 และ 191) นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนรถยนต์จำนวน 5 คันพร้อมพลขับ เพื่อปฏิบัติภารกิจในการรับส่งผู้ป่วย


กรณีผู้ป่วย ไม่ยินยอมเข้ารับการรักษาหรือกักตัวตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ จะมีตำรวจร่วมกับเจ้าพนักงานควบคุมโรค ไปชี้แจ้งทำความเข้าใจ และเชิญตัวผู้ป่วย หรือผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ ไปดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคต่อไป หรือหากผู้ป่วยเจตนาหลบเลี่ยงการติดต่อจากเจ้าพนักงานควบคุมโรค เช่น ปิดโทรศัพท์ หรือ จงใจไม่รับโทรศัพท์ ตำรวจจะช่วยสนับสนุนในการสืบสวนหาตัวผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษา ตรงนี้อยากร้องขอให้ประชาชนเข้าใจว่า เมื่อท่านเป็นผู้ป่วย จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ระบายไปยังผู้อื่นต่อไป
 







Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.