ผู้ว่าฯ สิงห์บุรี เร่งสูบน้ำลงแม่ลา รักษาพันธุ์ปลา-ระบบนิเวศ
30 เม.ย. 2564, 11:44
วันที่ 30 เม.ย. 64 นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี พ้อมด้วยชลประทานจังหวัด ประมงจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ติดตามดูการสูบน้ำเข้าลำแม่ลา เพื่อช่วยเหลือปลา และเป็นการรักษาระบบนิเวศน์ของลำแม่ลา หลังจากที่ก่อนหน้านี้น้ำในลำแม่ลานั้นมีปริมาณน้อย ในบางช่วงของลำแม่ลาถึงกับแห้งขอด ทำให้ปลาในลำแม่ลาต้องไปรวมกันในที่ที่มีน้ำบริเวณหน้าอุทยานแม่ลาราชานุสรณ์ หน้าวัดสะเดา และหน้าวัดแหลมคาง ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าปลาเหล่านี้กำลังจะตายเนื่องจากมีจำนวนที่หนาแน่น และน้ำก็เริ่มที่จะเสีย
ถึงแม้ว่าในตอนนี้จะมีฝนตกลงมาบ้างแต่ปริมาณน้ำก็ยังไม่เพียงพอ ทางจังหวัดจึงนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ของชลประทานจังหวัด และจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดไปสูบน้ำจากแม่น้ำน้อย ซึ่งห่างจากลำแม่ลาประมาณ 9 กิโลเมตร สูบน้ำเข้าคลองชลประทาน และมาสูบต่อเข้าลำแม่ลาอีกทีหนึ่ง เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน
สำหรับลำแม่ลา เป็นลำน้ำเก่าแก่ เป็นต้นกำเนิดของปลาช่อนแม่ลาที่มีรสชาติอร่อยที่สุดในโลก ลำแม่ลามีความยาวประมาณ 30 – 40 กิโลเมตร ซึ่งในช่วงที่สูบน้ำเข้าเป็นช่วงที่ความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร มีเขื่อนกั้นตั้งแต่หน้าวัดสะเดา ไปจนถึงเขื่อนบริเวณวัดแหลมคาง ซึ่งทางจังหวัดสิงห์บุรี จะทำช่วง 4 กิโลเมตรนี้เป็นแหล่งเพราะพันธ์ปลา จากนั้นก็จะพัฒนาถนนรอบลำแม่ลาช่วง 4 กิโลเมตรนี้ให้สวยงาม และส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนต่อไป
ซึ่งในการรักษาระดับน้ำของลำแม่ลาให้สูงตลอดเวลาในระยะยาวนั้น ในปีงบประมาณ 2565 ทางจังหวัดสิงห์บุรีก็ได้รับงบประมาณจากกรมชลประทาน ตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่แบบถาวร สูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาลงลำแม่ลา ซึ่งก็จะทำให้ลำแม่ลามีน้ำตลอดทั้งปี