เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



โฆษกฯ ย้ำรัฐบาลไม่ปิดกั้นภาคเอกชนจัดหาวัคซีน ยันร่วมมือตามแผน 100 ล้านโดสสิ้นปีนี้


30 เม.ย. 2564, 14:50



โฆษกฯ ย้ำรัฐบาลไม่ปิดกั้นภาคเอกชนจัดหาวัคซีน ยันร่วมมือตามแผน 100 ล้านโดสสิ้นปีนี้




วันที่ 30 เมษายน 2564 เวลา 09.00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ภายหลังประชุมหารือแนวทางความร่วมมือ การจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและเอกชน เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 64 ที่ผ่านมาว่า ในส่วนของการจัดหาวัคซีน ยืนยันรัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นเอกชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมแต่อย่างใด ซึ่งจากการที่ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในเรื่องดังกล่าวนั้น เอกชนได้ชี้แจงถึงการจัดหาวัคซีนว่าได้มีการติดต่อกับผู้ผลิตในต่างประเทศไปแล้ว แต่การส่งมอบอาจจะมีความล่าช้า โดยผู้ผลิตแต่ละที่แจ้งว่าจะสามารถส่งมอบได้ในไตรมาสที่ 4 หรือปลายปี

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทย เห็นว่ากรณีที่จะสามารถส่งมอบวัคซีนได้ปลายปี 2564 อาจจะทำให้ทับซ้อนกับในส่วนของวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาได้ ดังนั้นจึงให้รัฐบาลเป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ตามแผนที่กำหนดไว้ คือ ภายในสิ้นปีนี้จะมีวัคซีนเข้ามา 100 ล้านโดส



อย่างไรก็ตาม สมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้ออกมาชี้แจงว่า วัคซีนต่าง ๆ ที่ภาคธุรกิจเอกชนจัดหาไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางโรงพยาบาลเอกชน โดยในส่วนของโรงพยาลเอกชนยังคงดำเนินการตามกลไกของคณะกรรมการพิจารณาจัดหาวัคซีนที่มี นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานอยู่ ซึ่งเป็นการจัดหาวัคซีนอีกทางเลือกหนึ่ง จึงยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นเรื่องวัคซีน หากภาคเอกชนสามารถจัดหาวัคซีนมาได้ทันตามห้วงเวลาที่กำหนดก็สามารถที่จะดำเนินการได้

สำหรับการลงทะเบียนฉีดวัคซีนนั้น ประชาชนสามารถลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนได้ผ่านแอปพลิเคชัน "หมอพร้อม V.2" โดยรัฐบาลมีการวางแผนการฉีดวัคซีน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 คือฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีประมาณ จำนวน 3 ล้านคน ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงปัจจุบันได้มีการฉีดวัคซีนให้บุคลากรกลุ่มดังกล่าวครอบคลุมไปแล้ว 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้สามารถฉีดไปแล้วประมาณ 1,200,000 โดส เป็นผู้ที่รับวัคซีนเข้มแรกประมาณ 1 ล้านคน และรับวัคซีนเข้มที่ 2 ประมาณ 2 แสนคน โดยมีวัคซีนเข้ามาเพิ่มอีกประมาณ 5 แสนโดส ซึ่งจะดำเนินการฉีดอย่างต่อเนื่องให้ครบตามเป้าหมาย

ระยะที่ 2 คือ ฉีดให้กับประชาชน ประมาณ 16 ล้านคน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 11,700,000 คน กลุ่มที่ 2 ประชาชนที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ประมาณจำนวน 4,300,000 คน ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด ไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรงมะเร็ง โรงเบาหวาน และโรคอ้วน โดยกลุ่มดังกล่าวต้องลงทะเบียนก่อนบุคคลทั่วไปเพื่อที่จะได้รับวัคซีนก่อน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้กลุ่มประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มประชาชนที่มีโรคประจำตัวสามารถลงเบียนจองคิวฉีดวัคซีนได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน "หมอพร้อม V.2" เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป หรือหากไม่มีสมาทร์โฟนก็สามารถติดต่อนัดหมายได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านที่มีประวัติการรักษาอยู่ หรือกรณีต่างจังหวัดสามารถไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือติดต่อ อสม. ในพื้นที่ได้ โดยกลุ่มประชาชนจำนวน 16 ล้านคน จะเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป และคาดว่าจะสามารถฉีดให้ได้ครบทั้งหมดภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2564

ระยะที่ 3 คือ ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี - 59 ปี ประมาณ 31 ล้านคน โดยประชาชนกลุ่มนี้สามารถลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านแอปพลิเคชัน "หมอพร้อมV.2" ได้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป และเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำว่าดังนั้นในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 จึงขอให้กลุ่มประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มประชาชนที่มีโรคประจำตัว 7 โรคดังกล่าว ได้ลงทะเบียนฉีดก่อน เพื่อให้กลุ่มดังกล่าวสามารถที่จะลงทะเบียนได้อย่างสะดวก และให้ประชาชนกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี – 59 ปี ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน "หมอพร้อมV.2" ได้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 เพื่อที่จะฉีดวัคซีนในเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป

ในส่วนข้อกังวลสำหรับติดเชื้อและยังไม่สามารถรักษาหรือหาเตียงได้นั้น โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่ารัฐบาลได้พยายามที่จะดำเนินการเพิ่มเติม โดยจะมีการเปิดศูนย์แรกรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ณ อาคารกีฬานิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยบริหารจัดการสำหรับผู้ที่ยืนยันว่าเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งยังตกค้างอยู่ที่บ้านและยังไม่สามารถหาเตียงในสถานพยาบาลได้ เบื้องต้นจะมีการตรวจคัดกรองเพื่อแยกระดับอาการของโรค แบ่งตามสี ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง ก่อนส่งต่อไปยังสถานพยาบาลตามอาการต่อไป ซึ่งจะสามารถลดปัญหาผู้ป่วยที่ติดค้างอยู่ที่บ้านได้


ทั้งนี้หลังจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 คลี่คลายแล้ว สถานที่ต่าง ๆ ทั้งโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ หรือศูนย์แรกรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ดังกล่าว จะมีการเปลี่ยนให้เป็นสถานที่สำหรับการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สะดวกในการลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เป็นต้น

สำหรับการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมในส่วนของเอกชน ได้มีการประชุมหารือกันโดยภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะมีส่วนในการกระจายวัคซีนและฉีดวัคซีน เมื่อวัคซีนได้เข้ามาครบตามจำนวนการส่งมอบ ซึ่งภาคเอกชนจะช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ในส่วนของการลงทะเบียน และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.