เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



กองทัพเรือ ยิงสลุตหลวงเฉลิมพระเกียรติ "สมเด็จพระพันปีหลวง" เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา


12 ส.ค. 2562, 17:19



กองทัพเรือ ยิงสลุตหลวงเฉลิมพระเกียรติ "สมเด็จพระพันปีหลวง" เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา




วันนี้ ( 12 ส.ค.62 ) เวลา 12.00 น. กองทัพเรือ โดย ฐานทัพเรือกรุงเทพ ได้ทำการยิงสลุตหลวง 21 นัด เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 12 สิงหาคม 2562 ณ ป้อมวิชัยประสิทธิ์ พระราชวังเดิม กองทัพเรือ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ

การยิงสลุต ถือเป็นธรรมเนียมที่ทุกประเทศทั่วโลก ได้ยึดถือสืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพให้แก่ชาติ หรือ ธง หรือ บุคคล โดยยิงปืนใหญ่ด้วยดินดำ หรือดินไม่มีควัน มีจำนวนนัดเป็นเกณฑ์ตามควรแก่เกียรติ หรือสิ่งที่ควรรับความเคารพ คำว่า “สลุต” นั้นมาจากรากศัพท์ของคำว่า “Salutio” ในภาษาลาติน จุดเริ่มต้นของธรรมเนียมการยิงสลุต เล่ากันว่า ในสมัยโบราณ เรือสินค้าที่ต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลในระยะทางไกลจำเป็นที่จะต้องมีปืนใหญ่ไว้คุ้มครองสินค้าบนเรือ และจะต้องมีการบรรจุดินปืนในกระบอกปืนไว้ก่อนเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉิน แต่เมื่อเรือได้เดินทางไปถึงท่าเรือของประเทศที่เรือลำดังกล่าวต้องเข้าไปทำการค้าด้วย จึงต้องยิงปืนใหญ่ที่บรรจุแต่ดินปืนออกไปให้หมดเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่ามาอย่างมิตร มิใช่ศัตรู ตั้งแต่นั้นมาจึงได้เกิดเป็นประเพณีการยิงสลุตขึ้นเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อกันระหว่างเจ้าบ้านและผู้มาเยือนอันเป็นประเพณีที่ชาวเรือได้สืบทอดกันต่อมาจวบจนปัจจุบัน

แรกเริ่มเดิมทีประเพณีการยิงสลุตได้กำหนดตัวเลขการยิงเอาไว้ที่จำนวน 7 นัด ซึ่งในขณะนั้นทางทวีปยุโรปถือว่าเป็นเลขมงคลเพราะเชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลกใน 7 วัน หรือเหตุผลอีกกระแสหนึ่งที่ว่าบนเรือรบแต่ละลำมีปืนใหญ่ลำละ 7 กระบอก จึงต้องยิงให้เคลียร์หมดทุกกระบอกๆ ละ 1 นัด และยังมีธรรมเนียมต่อไปอีกว่า เมื่อเรือสินค้าได้ยิงให้แก่เจ้าของจำนวน 7 นัดแล้ว ทางป้อมปืนใหญ่ของชาติเจ้าของท่าจึงต้องยิงตอบออกมาเป็นจำนวน 3 เท่า ซึ่งก็คือ 21 นัด ในเวลาต่อมาได้มีการทำความตกลงกันใหม่ว่าควรให้ทั้งสองฝ่ายยิงในจำนวน 21 นัดเท่าๆ กัน โดยอังกฤษเป็นชาติแรกในการวางกฎระเบียบการยิงสลุต 21 นัด และได้ถือเป็นกติกาสากลสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน



 

 







Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.