มท.1 มอบนโยบายคุมโควิดแก่ผู้ว่าฯ-นอภ.ทั่วประเทศ ย้ำเตรียมความพร้อมฉีดวัคซีนให้ ปชช.
13 พ.ค. 2564, 13:53
วันนี้ (13 พ.ค.64) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายเพื่อป้องกัน ควบคุม และแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และหารือข้อราชการอื่น ๆ โดยมี นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย อธิบดี หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมการประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) ไปยังศาลากลางจังหวัด ทุกจังหวัด โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยส่วนภูมิภาค และส่วนกลางประจำภูมิภาค ร่วมประชุม และถ่ายทอดผ่านระบบ DOPA Channel ไปยังที่ว่าการอำเภอทุกแห่งทั่วประเทศ โดยมี นายอำเภอ และปลัดอำเภอ ร่วมประชุม
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) ได้ดำเนินการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านกลไกของทุกจังหวัดและอำเภออย่างเข้มข้น ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนและดำเนินการของทุกพื้นที่อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง จึงขอชื่นชมและขอบคุณทุกฝ่าย ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอ ฝ่ายปกครอง ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน คณะกรรมการชุมชน อาสาสมัคร จิตอาสา และประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ จากสถานการณ์ในปัจจุบันยังมีความจำเป็นต้องอาศัยกำลังและความร่วมมือจากทุก ๆ ฝ่ายในการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ลุล่วงต่อไป
จากนั้น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้มอบนโยบายในการป้องกัน ควบคุม และสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แก่ 1) การเตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีนของจังหวัดและกรุงเทพมหานคร โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้เรื่องวัคซีนโควิด-19 เป็น “วาระแห่งชาติ” และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงมหาดไทยดำเนินการบริหารจัดการวางแผนการกระจายวัคซีนเพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศไทยให้เร็วที่สุด โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป จะมีวัคซีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ถ้าประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ก็จะทำให้การแพร่ระบาดบรรเทาลง ซึ่งสิ่งที่ต้องเตรียมการ คือ เมื่อวัคซีนเข้ามาในระยะต่อไปเป็นจำนวนมาก เราต้องกระจายและฉีดให้กับพี่น้องประชาชน ถ้าสามารถรู้ได้ว่ามีความต้องการฉีดที่ไหนบ้าง ก็จะบริหารจัดการลงไปยังกลุ่มต่าง ๆ ได้ง่าย จึงให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้เข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนที่ถูกต้องให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง พร้อมมอบหมายข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ ช่วยเหลือประชาชนในการกรอกข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” เพื่อสามารถบริหารจัดการจำนวนวัคซีนได้อย่างเพียงพอและทั่วถึงในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงในด้านสถานที่สำหรับบริการฉีดวัคซีน ให้จัดเตรียมสถานที่บริการฉีดวัคซีนให้มีความพร้อม โดยอาจบูรณาการร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อรองรับประชาชนอย่างทั่วถึง 2) มาตรการควบคุมการลักลอบเข้าประเทศและการเคลื่อนย้ายแรงงานผิดกฎหมายตามแนวชายแดน ขอให้ทุกพื้นที่ดำเนินการกักกัน (Quarantine) ผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างถูกต้องให้เป็นไปตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มข้น และสกัดกั้นควบคุมการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย โดยบูรณาการและประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สำรวจตรวจสอบบุคคลที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่อย่างสูงสุด พร้อมสร้างการรับรู้ประชาชนช่วยสำรวจตรวจสอบบุคคลที่เดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน/ชุมชน มิให้มีการลักลอบเดินทางเข้าประเทศอย่างเด็ดขาด รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ วางระบบการตรวจตราโรงงาน สถานประกอบการ หอพัก 3) การป้องกันการรวมกลุ่มเพื่อลดความเสี่ยงจากการระบาดของโรคโควิด-19 ขอให้รณรงค์ประชาชนและทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A ได้แก่ D : Distancing (เว้นระยะห่าง) M : Mask wearing (สวมหน้ากาก) H : Hand washing (ล้างมือบ่อย ๆ) T : Temperature (ตรวจวัดอุณหภูมิ) T : Testing (ตรวจหาเชื้อโควิด - 19) และ A : Application (ใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ/หมอชนะ) อย่างเข้มข้น ไม่รวมกลุ่มหรือสัมผัสใกล้ชิดกัน พร้อมทั้งติดตาม กำกับ ตรวจสอบ และเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ไม่ให้มีการลักลอบเล่นการพนัน รวมถึงกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค 4) มาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุก (Active Case Finding) โดยต้องให้ความสำคัญในการวางมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุก (Active Case Finding) ในสถานที่เสี่ยงในพื้นที่ เช่น โรงงาน ตลาด และชุมชน เป็นต้น ให้มีความชัดเจนและต่อเนื่อง 5) การดำเนินการโรงพยาบาลสนามและระบบส่งต่อ ให้ทุกจังหวัดพิจารณาจัดตั้งโรงพยาบาลสนามให้เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ครอบคลุมทั้งด้านสถานที่ ระบบบริหารจัดการ ระบบการบูรณาการข้อมูลผู้ติดเชื้อและการส่งต่อ เป็นต้น 6) มาตรการช่วยเหลือประชาชน (มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไฟฟ้า-น้ำประปา) ขอให้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง
จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นนทบุรี สมุทรสาคร ภูเก็ต เชียงราย นราธิวาส และผู้แทนกรุงเทพมหานคร ได้รายงานการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการบริหารจัดการวัคซีนในพื้นที่
นายนิพนธ์ บุญญามณี กล่าวว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาการฉีดวัคซีนให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นลำดับต้น เพื่อความปลอดภัยของครูและนักเรียนซึ่งกำลังจะเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 รวมทั้งขอให้พิจารณาให้บุคลากรกองสาธารณสุขในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาร่วมดำเนินงานการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานในพื้นที่
นายทรงศักดิ์ ทองศรี กล่าวว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้กลไกบุคคลในพื้นที่สร้างความเข้าใจและความมั่นใจกับประชาชนในการเข้าถึงวัคซีนให้ได้มากที่สุด รวมทั้งดำเนินมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุก (Active Case Finding) ในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอขอบคุณทุกภาคส่วนของจังหวัดลำปาง ที่ได้ดำเนินการบริหารจัดการสถานการณ์ได้อย่างครบถ้วน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบริหารจัดการวัคซีน ทำให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในการเข้ารับการฉีดวัคซีน รวมถึงขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศที่ได้มาร่วมดำเนินงานโรงพยาบาลสนามโดยรอบปริมณฑล โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลบุษราคัม และได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดรณรงค์สร้างความร่วมมือกับประชาชนปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข D-M-H-T-T-A อย่างสูงสุด รวมทั้งดำเนินการสร้างความรับรู้เข้าใจข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนและประโยชน์ของวัคซีนให้กับประชาชน เพื่อลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 64 ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดในทุกพื้นที่ นอกจากนี้ ในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดนต้องสกัดกั้นไม่ให้มีผู้ลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด รวมถึงเร่งตรวจคัดกรองเชิงรุก (Active Case Finding) ในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน และขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กับทุกจังหวัดที่ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและเข้มข้น จึงขอให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อสกัดกั้นการระบาดของโรคโควิด-19 สร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน
จากนั้น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้มอบนโยบายการดำเนินงานภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก โดยให้ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด 2) การเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยในช่วงฤดูฝน ขอให้ติดตามสถานการณ์ แจ้งเตือนประชาชน ดูแลประชาชน และช่วยเหลือประชาชนขณะเกิดภัยและหลังเกิดภัย โดยพิจารณาใช้กลไกทุกภาคส่วนในพื้นที่ไปช่วยแก้ไขปัญหาฟื้นฟูอาคารบ้านเรือนให้ประชาชนเพื่อให้ประชาชนกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้เร็วที่สุด 3) การจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับจังหวัด และระดับต่าง ๆ ขอให้ดำเนินการตั้งกลไกในแต่ละระดับให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด และ 4) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด