ชุมพร แล้งหนัก! อ่างเก็บน้ำใหญ่แห้งขอด บ้านเรือน 400 หลัง ขาดน้ำใช้
19 พ.ค. 2564, 17:59
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 19 พ.ค.64 บ้านเขางาย ต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร นายสมบัติ ดีงสุวรรณ นายกเทศมนตรี เทศบาล ต.วังตะกอ เข้าร้องต่อ นายนพพร อุสิทธิ์ นายก อบจ.ชุมพร ในขณะที่กำลัง มอบข้าวกล่องให้กับ คณะแพทย์ พยาบาล รพ.หลังสวน เพื่อเป็นกำลังใจในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ให้เดินทางไปดูสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เขตเทศบาล ต.วังตะกอ สร้างความเดือดร้อนอย่างหนักแก่ชาวบ้านจำนวนมาก
นายนพพร อุสิทธิ์ นายก อบจ.ชุมพร นายสุชีพ ดำสุทธิ์ ส.อบจ.ชุมพร เขต หลังสวน นายพิเชษฐ์ เทศรัก ผญบ. หมู่ที่ 6 พร้อมด้วย จนท.อบจ.ชุมพร รุดไปที่เกิดเหตุ ซึ่งอยู่บนยอดเขาสูง “ภูเขางาย” พบว่า เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ สร้างระหว่าง หุบเขา ของภูเขางาย เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีป้ายหน่วยงานที่ก่อสร้าง ว่า “ อ่างเก็บน้ำเขางาย สร้างเมื่อ วันที่ 29 สิงหาคม 2547 โดย กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ขนาดความจุ 168,068 ลบ.ม. ล้อมรอบไปด้วยป่าไม้ที่ถูกบุกรุกส่วนหนึ่งและ ป่าสมบูรณ์เล็กน้อย สวนทุเรียน สวนยางพารา จำนวนมาก ด้านล่าง มี พื้นที่ชุมชน ของ 4 หมู่บ้าน จำนวนบ้านเรือน 400 กว่าหลัง จำนวนประชากร ร่วม 2,000 กว่าคน ในอ่างเก็บน้ำได้มีท่อสูบน้ำเพื่อนำขึ้นไปผลิตน้ำประปา ที่โรงประปา ข้างอ่างเก็บน้ำ ส่งให้ ชาวบ้านในพื้นที่ได้อุปโภคบริโภครวมถึงใช้ในการเกษตร
ชาวบ้าน เล่าว่า ปกติอ่างเก็บน้ำจะมีปริมาณน้ำมาก จนขึ้นมาเกือบถึงขอบอ่าง ชาวบ้านมีน้ำใช้กันสะดวกสบาย มานานนับ 17 ปี ในฤดูแล้งปริมาณจะลดลงเพียงครึ่งอ่าง เมื่อมีปริมาณฝนตกลงก็ จะมีน้ำเต็มอ่างเหมือนเดิม แต่ในปีนี้เมื่อช่วงเดือนเมษายน ที่เป็นฤดูแล้ง ปริมาณน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว จนถึงปลายเดือน เม.ย. ปริมาณน้ำแห้งขอด จนถึงพื้นอ่างถึงแม้จะมีฝนตกลงมาบ้างแต่ไมทำให้ปริมาณน้ำพื้นขึ้นแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อต้นเดือน พ.ค. ไม่สามารถผลิตน้ำประปาให้ชาวบ้านใน 4 หมู่บ้านใช้อุปโภคบริโภคได้อีก สร้างความเดือดร้อน แก่ชาวบ้านอย่างหนัก ทั้งน้ำอาบ น้ำใช้ ขาดแคลนมานาน ร่วม 2 อาทิตย์ จนถึงขึ้นต้องซื้อน้ำ หรือขุดบ่อเพื่อใช้น้ำชั่วคราว และหวังว่าจะรอฝนในฤดูฝนที่จะถึง แต่ เมื่อติดตามการพยากรณ์อากาศ คาดว่าปริมาณฝนไม่น่าทำเกิดน้ำในอ่างเก็บน้ำได้อีก
ส่วนสาเหตุ มาจากหลายประการ คือ การใช้น้ำรดสวนทุเรียนที่มีจำนวนมากในตำบลวังตะกอ ทำให้มีการสูบน้ำของแต่สวนทุเรียนอย่างหนักตลอดเวลา เป็นสาเหตุหลักๆ สองคือการที่อ่างเก็บน้ำมีความตื้นเขิน ทำให้ไม่สามารถเก็บน้ำได้ในปริมาณมาก น้ำไหลลงสู่ที่ต่ำตามลำห้วย ลำคลองลงสู่แม่น้ำหลังสวนอย่างรวดเร็ว อีกทั้งพื้นที่อ่างกว้างมาก เกินกำลังชาวบ้านและเทศบาลที่จะเอาเครื่องจักรลงไปขุดลอกก้านอ่างได้ จึงต้องขอให้ อบจ.ชุมพร มาดำเนินการช่วยเหลือ ด่วนด้วยเพราะชาวบ้านสองพันกว่าคนกำลังเดือดร้อนอย่างหนัก
นายนพพร อุสิทธิ์ นายก อบจ.ชุมพร ได้ตรวจสอบ และสอบถามรายละเอียดเบื้องต้นจาก จนท.อบจ.ชุมพร กล่าวว่า “จากขนาดของอ่างเก็บน้ำ และปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องแก้ด้วยการขุดลอกก้นอ่างที่มีความตื้นเขิน อันเป็นพื้นที่กว้างใหญ่มาก อบจ.ชุมพรก็ ไม่มีเครื่องมือที่จะดำเนินการ อีกทั้ง เป็นอ่างเก็บน้ำที่สร้างโดย กรมทรัพยากรน้ำ คงต้องแจ้งไปยัง กรมทรัพยากรน้ำ เพื่อขอให้ลงมาช่วยเหลือ แต่เบื้องต้นจะประสานงานให้ ชาวบ้านได้มีน้ำใช้ด้วยการใช้รถขนน้ำ เป็นการบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้าจนกว่า การแก้ไขปัญหาจะสำเร็จ แต่ อบจ.จะติดตามเรื่องในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ให้เพื่อความรวดเร็วในการแก้ปัญหา”