ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ ควงตะหลิวทำกับข้าวแจกผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
20 พ.ค. 2564, 18:01
เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2564 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่โรงครัวสนาม ในพื้นที่ ต.ตูม อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายสำรวย เกษกุล รอง ผวจ.ศรีสะเกษ นายบุญประสงศ์ นวลสายย์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ศรีสะเกษ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางไปลงพื้นที่ ต.ตูม อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยได้รับการสนับสนุนรถโรงครัวสนามเคลื่อนที่ จำนวน 1 คัน และรถผลิตน้ำดื่ม จำนวน 1 คัน จาก ศปภ.เขต 13 อุบลราชธานี เพื่อสนับสนุนในการจัดทำข้าวกล่อง และน้ำดื่ม วันละ 1,500 - 2,000 ชุด/มื้อ ในช่วงระหว่างวันที่ 20 - 27 พ.ค.2564 รวม 7 วัน แจกจ่ายหมุนเวียนไปในแต่ละหมู่บ้าน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง โดยคำนึงถึงความสดใหม่และมีคุณภาพของอาหารเป็นหลัก
นายวัฒนา กล่าวว่า ในวันนี้มียอดผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา จำนวน 18 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ ต.ตูม อ.ศรีรัตนะ และมีบางส่วนมาจาก อ.น้ำเกลี้ยง และ อ.กันทรลักษ์ นอกจากอาหารแล้ว ยังมีสิ่งของที่รับบริจาคจากภาคประชาชนในแต่ละรอบ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ สิ่งของอุปโภคบริโภคต่างๆ โดยมอบผ่านนายอำเภอ นำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ ส่วนมาตรการเพิ่มเติมในการปิดหมู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในพื้นที่ ที่ได้กำหนดจุดคัดกรองทางเข้า - ออก ของทั้ง 2 หมู่บ้าน และขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจในการกลั่นกรอง ดูแล อย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ยังมีการจัดระบบให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คอยอำนวยความสะดวกในการรับฝากซื้อของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันให้กับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อลดการเดินทางให้มากที่สุด ในเรื่องของการฉีดวัคซีน จ.ศรีสะเกษ มียอดผู้ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 9,000 - 10,000 คน โดยวัคซีนที่ได้รับมาในรอบแรกนั้น ได้ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ทำงานใกล้ชิด หรือมีความเสี่ยงสูง เช่น อสม. หรือฝ่ายความมั่นคงที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดน และในขณะนี้ ประชาชนใน จ.ศรีสะเกษ มีการตื่นตัวมากขึ้น โดยมียอดลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” จากเดิมประมาณ 9,000 คน เพิ่มเป็นประมาณ 130,000 คน อีกส่วนหนึ่งเป็นยอดที่มาจากบัญชีที่รับลงทะเบียนของส่วนราชการและภาคเอกชนผ่านระบบ “ศรีสะเกษพร้อม” ที่ทางจังหวัดได้จัดทำขึ้น มีการจัดทำฐานบัญชีเชิงรุก โดยให้ อสม.สอบถามสำรวจความพร้อม และรวบรวมข้อมูลสำหรับใช้ในการลงทะเบียน โดยในช่วงบ่ายวันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารวัคซีน จ.ศรีสะเกษ เพื่อบริหารจัดการและพิจารณาแจกจ่ายวัคซีนให้แต่ละพื้นที่อย่างทั่วถึงทั้ง 22 อำเภอ โดยแบ่งเป็น 1. พื้นที่ที่ประชาชนลงทะเบียน 2. บัญชีผู้มีโอกาสเสี่ยงสูง และ 3.สำรองไว้ในกรณีจำเป็นฉุกเฉิน ในด้านสถานที่ในการอำนวยความสะดวกก่อนฉีด หลังฉีด หรือการเฝ้าระวังต่าง ๆ แต่ละอำเภอจะมีอย่างน้อย 1 จุด และในเร็ว ๆ นี้ ทางจังหวัดจะได้ทำการทดสอบระบบการนำเข้าข้อมูลในแอปพลิเคชั่น “หมอพร้อม” โดยใช้ข้อมูลจากระบบ “ศรีสะเกษพร้อม” ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น เพื่อให้การทำงานมีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น