อ่างน้ำตาภายใน ม.เทคโนโลยีอีสาน ใกล้วิกฤตหลังผันน้ำช่วยผลิตน้ำประปา มหาลัยเตรียมหยุดให้น้ำเพื่อกักเก็บน้ำใช้อุปโภคภายใน
14 ส.ค. 2562, 09:28
หลังจากสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง แหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปา เลี้ยงชุมชนเมืองสุรินทร์ ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ วิกฤตสุดในรอบ 41 ปี และได้ผันน้ำจากบ่อหินที่เขาสวาย และ รวมถึงน้ำ ในอ่างเก็บน้ำอ่างน้ำตา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขต สุรินทร์ กระทั่งปัจจุบันมีน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงอยู่ประมาณ 1.8 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีตะกอนและขุ่นมากจนไม่สามารถผลิตน้ำประปาได้ตามปกติ ทำให้น้ำประปาไหลอ่อน และไม่ไหลเลยในหลายจุด
วันนี้ (14 ส.ค.62) ผู้สื่อข่าว onb news รายงานว่า สถานการณ์ขาดแคลนน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง (ห้วย-สะ-เหนง) ต.เฉนียง (ฉะ-เหนียง) อ.เมือง จ.สุรินทร์ ซึ่งประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ ตำบลนอกเมือง และเขตพื้นที่ตำบลใกล้เคียงที่ใช้น้ำจากการประปาส่วนภูมิภาค สาขาสุรินทร์ ปัจจุบันมีน้ำในอ่างอยู่ประมาณ 1.8 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 8.23 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณน้ำในอ่าง ซึ่งเพียงพอกับการผลิตน้ำประปา แต่น้ำมีสภาพขุ่น ตามสภาพของน้ำฝนและน้ำที่ได้จากบ่อหิน เขาสวาย ซึ่งไหลผ่านลำคลองทำให้การผลิตน้ำประปายังไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในเขตเมือง และบางพื้นที่น้ำประปาไม่ไหลเลย
นายกิติเมศวร์ รุ่งธนิเกียรติ นายก อบจ.สุรินทร์ นำรถแบคโฮมาขุดบ่อขนาด 40X40 เมตร ลึก 10 เมตร ในพื้นที่ก้นอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง เพื่อนำน้ำบาดาลออกมาจากใต้ดิน ช่วยแก้ปัญหาน้ำในการอุปโภค บริโภค ในเขตเทศบาลและตำบลนอกเมือง ซึ่ง อบจ.สุรินทร์ ได้จัดเจ้าหน้าที่เป็น 2 กะ คือช่วงเช้าและช่วงดึก จนถึงเวลา เที่ยงคืนของทุกคืน เพื่อเร่งขุดให้เสร็จบ่อแรกภายในวันที่ 18 ส.ค.นี้
ส่วนทางด้านอ่างเก็บน้ำ (อ่างน้ำตา) ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ซึ่งใช้ผันน้ำลงห้วยเสนง หรือ ลำโกด กง ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะนั้นมีมวลน้ำอยู่ประมาณ 2.5 แสนลูกบาศก์เมตร ใช้เครื่องสูบน้ำ 2 เครื่องทำงานวันละ 13 ช.ม. สูบน้ำได้ประมาณ 9,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จนถึงปัจจุบันกว่า 24 กว่าวันแล้ว ที่ใช้ผันน้ำลงห้วยเสนง หรือ ลำโกด กง ซึ่งปริมาณน้ำในอ่างน้ำตาเริ่มลดลงโดยเห็นได้ชัด จากส่วนท้ายของอ่างเริ่มแห้งเห็นดินโผล่แล้ว
นายสรชัย สุขพันธ์ ผู้ช่วยอธิการบดีประจำวิทยาเขตสุรินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยได้ตกลงกับชลประทานสุรินทร์ โดยให้บริการน้ำที่มีอยู่ในอ่างจำนวน 70 % และเหลือไว้ใช้ในฟาร์มของมหาวิทยาลัยจำนวน 30 % ซึ่งในขณะนี้เหลือน้ำอยู่ในอ่างประมาณ 50 % และทางมหาวิทยาลัยก็จะคอยสังเกตสถานการณ์น้ำในอ่างน้ำตาตลอดเวลา หากมีปริมาณน้อยลงถึงวิกฤตของเราหรือประมาณ 30 % ที่คุยกันไว้ตั้งแต่แรก ทางมหาวิทยาลัยก็ต้องขออนุญาตในการงดการสนับสนุนน้ำ จนกว่าน้ำในอ่างน้ำตาจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นจนสามารถให้บริการได้อีกครั้ง