"ในหลวง" พระราชทาน "บัตรอวยพรวิสาขบุรณมีบูชา วันสำคัญสากลของโลก พ.ศ. 2564"
25 พ.ค. 2564, 20:31
วันนี้ ( 25 พ.ค.64 ) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน “บัตรอวยพรวิสาขบุรณมีบูชา วันสําคัญสากลของโลก พ.ศ. ๒๕๖๔ พระราชทาน” ที่ทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสานแนว พระราชดําริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าอยู่หัวที่พระราชทานบัตรอวยพรเนื่องในวันวิสาขบูชา ให้เป็น ธรรมเนียมปฏิบัติของการส่งบัตรอวยพรแก่กัน ในวันสําคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ และครบรอบ ๑๐๐ ปีใน พ.ศ. ๒๕๖๔ นี้
“บัตรอวยพรวิสาขบุรณมีบูชา วันสําคัญสากลของโลก พ.ศ. ๒๕๖๔ พระราชทาน” ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เป็นภาพวาดฝีพระหัตถ์ ที่ทรงอธิบายถึง พระราชมรดกทางปัญญาที่พระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ก็คือ แนวพระราชดําริเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายเพิ่มเติมว่า แนวพระราชดําริเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เมื่อแปล ตามหลักนิรุกติศาสตร์จะได้ความว่า “ความพอเพียง เป็นกิจอันประเสริฐ” (สนฺตุฏฺฐี เสฏฺฐกิจฺจํ) ซึ่งเป็นหลักใจที่ เป็นกลาง ๆ ในการดําเนินชีวิตที่ทุกคนปฏิบัติได้ ปฏิบัติถึง และปฏิบัติให้เป็นผลได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงขยายความให้เกิดความชัดเจนอีกว่า ความจริงคุณสมบัติของ หลักการเศรษฐกิจพอเพียง ที่ประกอบด้วย ความพอประมาณ การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี และความมีเหตุผล ก็คือ หลักการทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า ไตรสิกขานั่นเอง กล่าวคือ “ศีล” ที่แปลว่า ปกติ เป็นการดําเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนและสังคม มีชีวิตที่เป็นปกติ เรียกว่า รู้จักดําเนินชีวิตอย่าง “พอประมาณ” คือมีกายวาจาที่สมดุล ไม่ใช้กายวาจาของตนสร้างความเดือดร้อนทั้งแก่ ตนและสังคม การเจริญสติที่ต่อเนื่องจนเป็น “สมาธิ” คือ ความตั้งใจมั่น จะก่อให้เกิดผล “มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี” และ การตื่นรู้ ที่นําไปสู่การพัฒนา ก่อให้เกิด “มีเหตุผล” เรียกอีกอย่างว่า “ปัญญา”
ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียง ในการปฏิบัติการที่แท้จริงก็คือ พัฒนาพฤติกรรมทางกายวาจาให้มีความพอประมาณ หรือความปกติ พัฒนาสติต่อเนื่องจนมีจิตที่ตั้งมั่นเรียกว่า “สมาธิ” มีผลทําให้มีภูมิคุ้มกัน และ ปฏิบัติเรียนรู้จนเกิดการตื่นรู้ เห็นทุกอย่างตามเหตุปัจจัย ทําให้กระบวนการคิดประกอบด้วยหลักการของเหตุ และผล
ดังนั้น ทุกกิจกรรมของมนุษยชาติควรประกอบด้วยหลักการแนวพระราชดําริที่ว่า “ความพอเพียง เป็น กิจอันประเสริฐ” กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กิจกรรมใดที่ประกอบด้วยหลักแห่งความพอเพียง คือหลักแห่งความ สมดุลเป็นพื้นฐาน ก็เรียกได้ว่า เป็นกิจอันประเสริฐ เป็นกิจที่นําไปสู่ความสงบสุขของตนและผู้อื่นในสังคมเป็น ที่สุด
วิสาขบูชา เป็นวันสําคัญทางพระพุทธศาสนา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือในกรณีปีใดมีอธิกมาสจะ กําหนดในเดือน ๗ อันเป็นวันคล้ายดิถีประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดําริเกี่ยวกับบัตรอวยพรเนื่องในวันวิสาขบูชา เพื่อให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการส่งบัตรอวยพรแก่กันในวันสําคัญทางพระพุทธศาสนา ทํานอง เดียวกับการอวยพรในวันสมโภชพระคริสตสมภพ จึงทรงริเริ่มการพระราชทานบัตรอวยพรวันวิสาขบูชาแก่ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในราชสํานัก เป็นครั้งแรกเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๖๓
บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ได้รับพระราชทานบัตรอวยพร ต่าง สํานึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพร้อมใจกันสนองพระราชนิยมด้วยการจัดทําบัตรถวายพระพร เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเช่นกัน
ลักษณะของบัตรถวายพระพรแต่ละฉบับ มีขนาด ลวดลาย และข้อความที่แตกต่างกันไป มีทั้งข้อความเป็น คาถาภาษาบาลี ความเรียงร้อยแก้ว และบทร้อยกรองประเภท โคลง หรือกลอน เป็นต้น
บัตรอวยพรวันวิสาขบูชา สะท้อนให้เห็นถึงแนวพระราชดําริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ ทรงพระราชปรารถนาให้ประชาชนตระหนักถึงความสําคัญของวันวิสาขบูชา พร้อมส่งความปรารถนาดี ด้วย ภาพและข้อความอันเป็นมงคล ทําให้ผู้ได้รับเกิดความปีติยินดี ก่อให้เกิดสามัคคีธรรม และน้อมนําใจให้รําลึกถึง คุณพระรัตนตรัยเป็นสรณะนําทางชีวิต