"จุรินทร์" ลงพื้นที่แก้ปัญหาตู้สินค้าส่งออกขาดแคลน
26 พ.ค. 2564, 19:12
จุรินทร์ ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง นำตรวจ "เรือสินค้าขนาดใหญ่" ความยาวมากกว่า 300 เมตรแต่ไม่เกิน 400 เมตรเข้ามาเทียบท่าได้ เพื่อแก้ปัญหาตู้สินค้าส่งออกขาดแคลน ช่วยการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่า 35,000 ล้านบาท ชี้ความร่วมมือ "พาณิชย์-ภาคเอกชน-กรมเจ้าท่า"
วันนี้ ( 26 พ.ค.2564) ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะลงพื้นที่ ฮัทชินสันพอร์ท ท่าเทียบเรือ D1 ท่าเรือแหลมฉบัง อําเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมการนำเรือขนาดมากกว่า 300 เมตร แต่ไม่เกิน 400 เมตร เข้ามาในประเทศไทย คือเรือสินค้า MSC Amsterdam เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าของประเทศไทย
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกของไทย โดยเฉพาะในปี 2564 ตัวขับเคลื่อนสำคัญคือการส่งออกและต้นปีนี้การส่งออกก็เป็นบวก เดือนมีนาคมเป็นบวกถึง 8.47% และเดือนเมษายนบวกถึง 13.09% และยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น การส่งออกเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การแก้ปัญหาการส่งออกจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ การส่งออกประกอบด้วยการขนสินค้าทางบก ทางอากาศและทางเรือ การขนส่งสินค้าทางเรือมีประเด็นปัญหาคือตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าเพื่อลงเรือส่งออกขาดแคลนเนื่องจากก่อนเกิดสถานการณ์โควิดมีการส่งสินค้าไปสหรัฐและสหภาพยุโรปจำนวนมากแต่ส่งสินค้ากลับมาน้อย ตู้ไปค้างอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป แต่ประเทศจีนมีศักยภาพสามารถนำตู้ไปใช้ในการส่งออกได้มาก
สำหรับประเทศไทยมีการประชุม กรอ.พาณิชย์ การท่าเรือร่วมกับภาคเอกชนมาโดยใกล้ชิดได้ข้อสรุปว่าจากนี้ไปจะแก้ปัญหาโดยจะเปิดโอกาสให้เรือขนาดใหญ่ขนาด 300-400 เมตร เข้ามาเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบังได้จะช่วยให้ ลดต้นทุนการขนตู้เปล่าและตู้ที่มีสินค้าเข้ามา ซึ่งจะทำให้มีตู้เปล่าที่ส่งสินค้าออกได้มากขึ้น ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้การท่าเรือแก้ประกาศจับประกาศใหม่อนุญาตให้เรือ 300-400 เมตรเข้าเทียบท่าได้ ซึ่งขณะนี้มีเรือขนาดใหญ่เข้ามาหลายลำแล้วตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 และ 17 เมษายน 2564 20 เมษายน 2564 และวันที่ 5 พฤษภาคม เป็นลำใหญ่ขนาด 399 เมตร สามารถบรรทุกตู้เข้ามาได้ประมาณ 12,000 ตู้ และวันนี้เรือสินค้า MSC Amsterdam ขนาด 399 เมตร สามารถบรรทุกตู้เปล่าเข้ามาได้ประมาณ 4,000 ตู้ สามารถบรรจุสินค้าลงไปได้ประมาณ 80,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าสินค้าที่ส่งออกประมาณ 6,000 ล้านบาท และยังมีอีกสองลำที่จะเข้ามาวันที่ 2 มิถุนายน 395 เมตรและ 19 มิถุนายน 398 เมตร
" รวมแล้วทั้งหมดจะเป็น 7 ลำ สามารถบรรทุกตู้เปล่าเข้ามาประมาณ 23,000 ตู้ สามารถขนสินค้าออกไปได้ประมาณ 458,000 ตัน รวมมูลค่าให้การส่งออกเพิ่มขึ้นจากการได้ตู้เปล่าประมาณ 35,000 ล้านบาท คือผลที่เป็นรูปธรรมจากการร่วมกันแก้ปัญหาระหว่างกระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชนและกรมเจ้าท่า
ขณะนี้ตู้เริ่มเข้าสู่สภาวะสมดุลความต้องการใช้ตู้เปล่าเดือนหนึ่งประมาณ 128,000 ตู้ เรามีตู้ประมาณ 130,000 ตู้ เริ่มเข้าสู่สภาวะสมดุลแล้ว แต่ต้องติดตามสถานการณ์และกรมเจ้าท่าต้องอำนวยความสะดวกโดยเร็วที่สุด เปิดโอกาสให้เรือขนาดใหญ่เอาตู้เปล่าเข้ามาและเราส่งสินค้าออกไปได้มากขึ้นจะช่วยให้ตัวเลขส่งออกของเราเป็นบวกได้ต่อและจะเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ต่อไป
ผมเชื่อว่าศักยภาพการส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศยังมีเพิ่มขึ้น ภาคเอกชนสายการเดินเรือต้องเข้ามาช่วยในการจัดหาตู้และกรมเจ้าท่าต้องอนุญาตโดยเร็วในการดำเนินการ และได้มีประกาศใหม่ให้ใบอนุญาตสำหรับเรือขนตู้ขนาด 300-400 เมตรภายในเวลา 2 ปี แต่ตนจะไปเจรจาว่าทำไมไม่เป็นตลอดไปเพราะการส่งออกยังเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ หากจำเป็นต้องปรับปรุงร่องน้ำหรือปรับปรุงอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ก็จะต้องลงทุนเพิ่มเติมเพื่อแลกกับตัวเลขการส่งออกที่นำรายได้เข้าประเทศตนเชื่อว่าคุ้มแน่นอน " รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว