เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"ปศุสัตว์หนองคาย" เร่งรักษาวัวป่วยโรคลัมปี สกิน กว่า 1,000 ตัว แนะกำจัดพาหะนำโรคทุกชนิด


31 พ.ค. 2564, 11:29



"ปศุสัตว์หนองคาย" เร่งรักษาวัวป่วยโรคลัมปี สกิน กว่า 1,000 ตัว แนะกำจัดพาหะนำโรคทุกชนิด




เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 31 พ.ค. 64 ที่ลานอเนกประสงค์ หน้าเทศบาลตำบลวัดธาตุ อ.เมืองหนองคาย นางสาวสิริมา วัฒโน รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดกิจกรรมการรณรงค์ป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกิน(Lumpy Skin Disease) พร้อมมอบอุปกรณ์สิ่งของที่จำเป็นในการดำเนินกิจกรรม

จากนั้น นายสัตวแพทย์คมวุฒิ ธรรมศาร์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานปศุสัตว์ จ.หนองคาย ได้นำเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ออกตรวจเยี่ยมวัวที่มีอาการป่วยด้วยโรคลัมปี สกิน ของเกษตรกรที่บ้านสร้างประทาย ตำบลวัดธาตุ โดยได้ทำการรักษาเบื้องต้น และใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดไล่แมลง



นายสัตวแพทย์คมวุฒิ ธรรมศาร์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานปศุสัตว์ จ.หนองคาย  กล่าวว่า คอกวัวของเกษตรกรที่ตำบลวัดธาตุแห่งนี้ มีวัวป่วยมาได้ประมาณ 2 สัปดาห์ แม่วัวใกล้จะหายแล้วแต่ลูกวัวอาการยังน่าเป็นห่วง เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เกษตรกรที่มีวัวป่วยด้วยโรคนี้อย่าเพิ่งวิตกกังวลมากนัก เพราะโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มีแมลงดูดเลือดในสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นแมลงวันคอก เหลือบ ริ้น ยุง เห็บ หมัด เป็นพาหะนำโรค ไม่ติดต่อสู่คน ถ้าเกษตรกรสามารถควบคุมป้องกันแมลงเหล่านี้ได้ก็จะช่วยลดความรุนแรงและการระบาดของโรคได้ หากพบว่ามีวัวป่วย เริ่มเป็นตุ่ม ให้รีบแจ้งสัตวแพทย์ หรือปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ เพื่อจะได้มีการดูแล อาจมีการให้ยาลดไข้และยาป้องกันโรคติดเชื้อแทรกซ้อน ซึ่งระยะแรกวัวจะมีไข้ มีตุ่มก้อน รักษาด้วยการให้ยาลดไข้ 1-3 วัน และภายใน 1-3 สัปดาห์ ไข้และตุ่มที่เป็นจะค่อย ๆ ลดลง และหายป่วย เกษตรกรต้องกำจัดแมลงพาหะและแหล่งเพาะพันธุ์ตลอดจนได้รับการรักษาและฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ป่วยโดยด่วน


สถานการณ์โรคลัมปี สกิน ที่ จ.หนองคาย มีรายงานสัตว์ป่วยทั้ง 9 อำเภอ ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.64 เกษตรกรได้รับผลกระทบจำนวน 625 ราย วัวเนื้อป่วย 1,118 ตัว และตาย 9 ตัว นายประเสริฐ ลือชาธนานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายได้ประกาศกำหนดให้เป็นพื้นที่โรคระบาดลิปปี้สกินในโค กระบือ ซึ่งมีผลตามกฎหมายโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ตามมาตรา 22 ห้ามเคลื่อนย้ายโค กระบือ เข้าออกทั้งจังหวัด จนกว่าจะมีการยกเลิกประกาศ หรือได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ส่วนผู้ที่ชื่นชอบรับประทานเนื้อ ไม่ต้องกังวล วัวที่ป่วยด้วยโรคนี้จะมีอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนว่ามีตุ่มเป็นก้อนที่ผิวหนัง การจะนำเข้าโรงฆ่า พนักงานตรวจโรคที่โรงฆ่าจะไม่อนุญาตให้นำเข้าอยู่แล้ว หากไม่สบายใจว่าจะเป็นวัวติดโรคหรือไม่ก็ควรปรุงให้สุกทุกครั้ง

 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.