มท.1 ยืนยันท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนได้ตามกม. แต่ต้องอยู่ภายใต้แผนของ ศบค.ป้องกันเหลื่อมล้ำ
2 มิ.ย. 2564, 18:02
วันนี้ ( 2 มิ.ย.64 ) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2565 วันที่ 3 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ชี้แจงส่วนของการจัดซื้อวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยระบุว่าในเรื่องของวัคซีนคงต้องพูดให้เกิดความเข้าใจ ว่า อปท.ก็อยากเข้ามาช่วย แต่ต้องดูว่ากฎหมายอปท.ทำได้หรือไม่ ซึ่งยืนยันว่าจากการศึกษาทำได้ทุกรูปแบบ ในการที่จะจัดหาวัคซีน ทั้งในเรื่องป้องกัน รักษา และฟื้นฟู อย่างไรก็ตามต้องมาดูว่าหากท้องถิ่นเข้ามาดูแลเรื่องจัดหาวัคซีนจะมีปัญหาด้านใดบ้าง จะมีเรื่องของคำแนะนำและเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แจ้งกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ประชาสัมพันธ์ให้เอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบได้ทราบว่า การจัดหาวัคซีนในระยะแรกนี้ ขอให้ภาครัฐเป็นคนทำซึ่งองค์กรส่วนท้องถิ่นก็เข้าใจ
มท.1 ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า มาจนถึงปัจจุบันนี้เมื่อสถานการณ์วัคซีนที่หลายคนไม่เข้าใจ ก็คงตอบแทนสาธารณสุขได้ว่าได้เตรียมการที่จะจองหรือซื้อมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ในส่วนของ อปท.ก็อยากจะเข้ามาช่วย แต่ก็ต้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณา เหตุเพราะ อปท.แต่ละที่มีงบประมาณไม่เท่ากัน การจัดซื้อจะจัดซื้ออย่างไร จะซื้อยี่ห้ออะไร ซื้อเองได้หรือไม่ แต่ปัญหาที่เห็นได้ชัดคือหลักการสร้างของภูมิคุ้มกันหมู่ต้องทำอย่างไร กระทรวงสาธารณสุขบอกว่าต้องทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ประมาณ 70% ของประชากร ถ้าเราให้ อปท.จัดซื้อวัคซีนจะเกิดความเหลื่อมล้ำ อาจจะมีพื้นที่ที่ซื้อได้ 100% และพื้นที่อื่นทำไม่ได้ ซึ่งจะขัดหลักการของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการให้ภูมิคุ้มกันขึ้นพร้อมๆกันทั้งประเทศ
"สรุป แม้ว่า อปท.จะดำเนินการได้ตามกฎหมาย แต่ก็มีระเบียบต่อไว้ว่า ในการที่จะดำเนินการที่ซื้อวัคซีน อปท.ให้ประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ก็คือศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ซึ่งขณะนี้ทางนายกรัฐมนตรีได้เตรียมให้ศบค.แจ้งไปยัง อปท.ว่า สามารถซื้อได้ แต่ต้องอยู่ในแผนของ ศบค. ซึ่งวัคซีนทั้ง 5 ชนิดที่ผ่าน อย. ก็จะติดต่อกับรัฐบาลโดยตรง ถ้าจะซื้อต่อไปก็ต้องซื้อผ่านรัฐบาล" พลเอกอนุพงษ์ กล่าว