แห่งเดียวในไทย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
5 มิ.ย. 2564, 11:45
จากกรณีข่าว นายไชย์พล วิภา หรือลุงพล ตกเป็นผู้ต้องหาทำให้น้องชมพู่เสียชีวิต ด้วยหลักฐานจากการนำวิทยาการใหม่ คือการตรวจวิเคราะห์เส้นขนจำนวน 3 เส้นด้วยเทคนิคการใช้รังสีเอกซเรย์จากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) มีความละเอียดระดับนาโนเมตร ต่อให้เวลาผ่านไปเป็นสิบปี ก็สามารถนำมาตรวจได้ ซึ่งทำให้หลายคนนั้นสนใจกับเทคโนโลยีตัวนี้เป็นอย่างมาก
และมีหลายคนที่ยังไม่รู้ว่า สำหรับ “สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน” ซึ่งตั้งอยู่ ณ บริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา แห่งเดียวในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน มีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนนับเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ ที่มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีวิศวกรรม ที่นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานอันสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ต้องการตอบโจทย์ลึกซึ้งทางวัสดุถึงระดับอะตอมและโมเลกุล มีการประยุกต์หลากหลาย ทั้งทางเกษตร การแพทย์ เภสัชกรรม อุตสาหกรรม
สถาบันวิจัยแสงซินโครตอน เป็นองค์การมหาชน ภายใต้กำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีพันธกิจ เพื่อการวิจัยเกี่ยวกับแสงซินโครตรอน การให้บริการแสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอน อีกทั้งการส่งเสริมการถ่ายทอดและการเรียนรู้เทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอน สถาบันได้ปฏิบัติพันธกิจทั้งหมดนี้สนองตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยสรุปดังนี้ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ทัดเทียมสากลนานาอารยะประเทศ
นอกจากนี้ สถาบันยังมุ่งมั่นทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาล นั่นคือการสร้างงานวิจัยที่เกื้อกูลต่ออุตสาหกรรมเพื่อช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
แสงจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนมีประโยชน์อย่างกว้างขวาง เพื่อการวิเคราะห์วิจัยเชิงลึกทางวิทยาศาสตร์ของวัตถุต่างๆ ในระดับอะตอมและโมเลกุล วัตถุที่นำมาทดสอบสามารถมีสถานะ ของแข็ง ของเหลว ก๊าซ แม้กระทั่งพลาสมา เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนจึงถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญยิ่ง ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของชาติ และเป็นดัชนีชี้วัดถถึงความเจริญทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศ
คุณสมบัติของ แสงซินโครตรอน
แสงซินโครตรอนที่ผลิตขึ้น ณ ห้องปฏิบัติการแสงสยามมีความสว่างกว่าแสงในเวลากลางวันกว่าล้านเท่า คมชัด ความเข้มสูง อำนาจการทะลุทะลวงสูง และมีขนาดของลำแสงเล็กมากเทียบเท่ากับระดับความหนาของเส้นผม ทำให้สามารถศึกษาถึงโครงสร้างระดับอะตอมของธาตุชนิดต่างๆได้ นอกจากนี้ยังครอบคลุมช่วงความยาวคลื่นต่อเนื่อง ตั้งแต่ รังสีอินฟราเรด แสงที่ตามองเห็น รังสีอัลตราไวโอเลต และรังสีเอกซ์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเลือกใช้ช่วงความยาวคลื่นหรือพลังงานที่เหมาะสม เพื่อนำมาใช้ศึกษาในงานวิจัยด้านต่างๆตามที่ต้องการได้