หมอธีระ คาดมีนับหมื่น ภาวะอาการคงค้างหลังรักษาหาย ในผู้ป่วยโควิด
6 มิ.ย. 2564, 10:25
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เผยถึงผู้ป่วยโควิด-19 กับภาวะอาการคงค้าง หลังรักษาหาย โดยคุณหมอเผยว่า จากการติดตามอันดับของไทยในเวทีโลกยอดติดเชื้อสะสม อยู่อันดับ 80 จำนวนติดเชื้อต่อวัน อยู่อันดับ 23 จำนวนการเสียชีวิตต่อวัน อยู่อันดับ 32 จำนวน active case ขณะนี้ อยู่อันดับ 35 และจำนวนผู้ป่วยรุนแรงหรือวิกฤติ อยู่อันดับ 18 ด้วยตัวเลขข้างต้น ทำให้เข้าใจได้ว่าสถานการณ์การระบาดขณะนี้ยังรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แม้ยอดสะสมจะอยู่อันดับ 80 แต่หากติดตามกันใกล้ชิดก็จะรู้ว่าไต่อันดับขึ้นมาหลายสิบอันดับภายในเวลาไม่กี่เดือน
เรื่องที่ควรวางแผนอีกเรื่องที่สำคัญคือ ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังมีอาการคงค้าง หลังได้รับการดูแลรักษาไปแล้ว ที่เราเรียกว่า "COVID Long Hauler" หรือ "Chronic COVID" หรือ "Post-acute COVID Syndrome" ประเทศที่มีคนติดเชื้อเยอะๆ มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการคงค้างหลังการรักษามากขึ้นเรื่อยๆ มีรายงานว่าสามารถพบได้เฉลี่ยราวหนึ่งในสาม รายงานพบมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
อเมริกาเริ่มมีการผลักดันร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อพัฒนาระบบการดูแลรักษา บรรเทาผลกระทบ ตลอดจนระบบเก็บข้อมูลผู้ติดเชื้อที่มีอาการคงค้าง เพื่อจะได้ทราบตัวเลขที่ชัดเจน และจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม
สำหรับไทยเรา ตอนนี้ติดเชื้อสะสมไปกว่า 170,000 คน ถ้าสถิติคล้ายกับต่างประเทศ ก็อาจมีผู้ติดเชื้อที่ประสบกับภาวะ COVID Long Hauler นี้ระดับหมื่นคน หรือหลายหมื่นคนได้ และจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่การระบาดยังเป็นไปในลักษณะเช่นที่เห็นในปัจจุบัน อาการคงค้างมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงมาก และคงอยู่ได้นานหลายสัปดาห์ไปถึงหลายเดือน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาการดมไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ตลอดจนอาการทางปอด สมอง และหัวใจ
เครือข่ายสถานพยาบาลในระดับตติยภูมิ น่าจะพิจารณาประเมินสถานการณ์ และจัดตั้งคลินิกเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อช่วยเหลือดูแล และทำการศึกษาวิจัยให้เกิดองค์ความรู้เรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง