เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



กทม.ชี้แจงปมเลื่อนฉีดวัคซีน หลังเกิดข้อขัดข้อง


14 มิ.ย. 2564, 13:11



กทม.ชี้แจงปมเลื่อนฉีดวัคซีน หลังเกิดข้อขัดข้อง




วันนี้ (14 มิ.ย.64) เวลา 11.40 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เลขาธิการ สมช.) พร้อมด้วย พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าวการบริหารจัดการวัคซีน ยืนยันการบริหารจัดการวัคซีนเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเดินหน้าตามนโยบายรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้กับคนไทยอย่างน้อย 50 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เร็วที่สุด ภายในปี 2564
 
เลขาธิการ สมช. เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ห่วงใยประชาชนได้มีนโยบายให้มีการเร่งฉีดวัคซีนแก่ทุกคนในประเทศ รวมทั้งชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย 2.6 ล้านคน รวมแล้วกว่า 70 ล้านคน จึงต้องจัดหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 แบ่งเป็น Sinovac 8,000,000 โดส  AstraZeneca 61,000,000 โดส  Pfizer 20,000,000 โดส และ Johnson&Johnson 5,000,000 โดส ซึ่ง Johnson&Johnson ต่อหนึ่งโดสจะมีประสิทธิภาพมากกว่าวัคซีนชนิดอื่นเป็น 2 เท่า รวมแล้วกว่า 99,000,000 โดส นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังจะจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องให้เพียงพอแก่ประชาชน 50 ล้านคน  เลขาธิการ สมช. ยังยืนยันการฉีดวัคซีนยังคงเป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยภายในเดือนมิถุนายน มีเป้าหมายการฉีดวัคซีน 6,000,000 โดส และในเดือน ต่อ ๆ ไปอย่างน้อยเดือนละ 10,000,000 โดส เพื่อให้ประชาชน 50 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกภายในเดือนตุลาคม 2564 
 
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์มีการนำเข้าวัคซีนแล้วจำนวน 8.1 ล้านโดส มีจำนวนฉีดสะสมนับถึงวันที่ 13 มิถุนายน จำนวน 6,188,124 โดส พื้นที่ฉีดสูงสุดคือกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,716,394 โดส คิดเป็นร้อยละ 27.7 จากวัคซีนที่มีทั้งหมด แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 1,346,993 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 369,401 โดส ส่งผลให้พื้นที่กรุงเทพมหานครมีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม เป็นร้อยละ 17.5 
 
อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวว่าตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมาย เช่น บุคลากรทางการศึกษา ผู้ประกอบอาชีพขนส่งสาธารณะ กลุ่มแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แบ่งเป็น 2 งวด คือ งวดแรกฉีดตั้งแต่ 7 มิ.ย. - 20 มิ.ย. มีการส่งวัคซีนไปประมาณ 3 ล้านโดส ประกอบด้วยวัคซีนซิโนแวค 1 ล้านโดส และวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 2 ล้านโดส กทม. 5 แสนโดส แบ่งเป็นแอสตร้าเซเนก้า 3.5 แสนโดส ซิโนแวค 1.5 แสนโดส สำนักงานประกันสังคมอีก 3 แสนโดส  กลุ่มมหาวิทยาลัย 11 แห่ง จำนวน 1.5 แสนโดส สำหรับกลุ่มที่ลงทะเบียนหมอพร้อม 76 จังหวัดมีการส่งวัคซีนไป 1.1 ล้านโดส จุดบริการฉีดสำหรับองค์กรภาครัฐ 1 แสนโดส รวมทั้งจัดเตรียมไว้สำหรับรองรับสถานการณ์การระบาดที่มีอยู่หลายพื้นที่  สำหรับงวดที่ 2 การกระจายอย่างช้าที่สุดในวันที่ 21 มิ.ย. - 2 ก.ค. จำนวน 3.5 ล้านโดส แบ่งเป็นวัคซีนซิโนแวค 2 ล้านโดส และแอสตร้าเซเนก้า 1.5 ล้านโดส ทั้งนี้ การจัดสรรวัคซีนคำนึงถึงข้อมูลวิชาการในพื้นที่ จำนวนประชากร สถานการณ์การระบาด เพื่อจัดสรรตามสัดส่วนที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด รวมทั้งคำนึงถึงนโยบายอื่น ๆ ของรัฐบาลมาเป็นตัวกำหนด โดยเน้นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า และผู้ดำเนินการสอบสวนโรค ซึ่งขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้รับการฉีดวัคซีนเกือบครบ 100% แล้ว นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกลุ่มตำรวจ ทหาร      อสม. ที่ทำงานในพื้นที่กักกันโรค จะได้รับการฉีดวัคซีนในลำดับต่อไป  อธิบดีกรมควบคุมโรคได้ชี้แจงว่า วัคซีนโควิด-19 เป็นการใช้สภาวะฉุกเฉินอยู่ ไม่ได้เป็นสินค้าที่มีในท้องตลาด การสั่งซื้อ จะต้องมีการผลิตและจัดส่งทันทีเพื่อให้ถึงมือพี่น้องประชาชนอย่างเร็วที่สุด  ซึ่งขณะนี้ บริษัทวัคซีนที่ได้กำหนดทำสัญญาก็จะทยอยส่งให้เป็นงวดตามสัญญาที่กำหนด



ทั้งนี้ พลเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 7 - 14 มิถุนายน นี้ กทม. ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขรวมกว่า 500,000 โดส และได้รับการจัดสรรวัคซีน AstraZeneca 350,000 โดส ได้มีการกระจายไปยังตามจุดบริการฉีดวัคซีนต่าง ๆ เพื่อฉีดให้แก่ผู้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ตั้งแต่วันที่ 7 - 14 มิถุนายน จำนวน 182,000 โดส สำหรับฉีดเข็มที่สอง จำนวน 52,000 โดส สำหรับผู้ป่วยติดเตียง คนชรา จำนวน 8,000 โดส และกระจายไปยังจุดบริการฉีดวัคซีนแก่ผู้ที่ลงทะเบียนผ่าน “ไทยร่วมใจ” จำนวน 100,000 โดส ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวงสาธารณสุขในการจัดสรรวัคซีนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงคมนาคม ในการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนทั่วไปและผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ ณ สถานีกลางบางซื่อ กระทรวงแรงงานที่ให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีนแก่ผู้ประกันตน ม.33 แล้วกว่า 210,000 ราย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการฉีดวัคซีนในพื้นที่ 11 มหาวิทยาลัยในสังกัด 
 
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องมีการชะลอการให้บริการฉีดวัคซีนแก่ผู้ลงทะเบียนผ่าน “ไทยร่วมใจ” ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนวันที่ 15 - 20 มิถุนายน เนื่องจากความขัดข้องในการจัดส่งวัคซีน เมื่อได้รับการจัดสรรวัคซีนแล้วจะเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดสำหรับผู้ที่ถูกเลื่อนนัดจะได้รับการฉีดวัคซีนเป็นอันดับแรก ซึ่งจะแจ้งผ่าน SMS เพื่อให้ประชาชนได้เลือกวัน/เวลา ที่ประสงค์จะเข้ารับการฉีดวัคซีน ไม่ต้องต่อคิวใหม่อีกครั้ง หากประชาชนท่านใดที่ไม่ได้รับ SMS หรือต้องการสอบถามเพิ่มเติมสามารถโทร 1516 โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังยืนยันถึงมาตรการผ่อนปรน 5 สถานที่ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป สำหรับสถานที่และกิจการประเภทอื่นที่มีคำสั่งปิดให้บริการก่อนหน้านี้ ให้ปิดบริการต่อจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
 
ในช่วงท้าย เลขาธิการ สมช. ยังกล่าวว่า  ศบค. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขได้มีการวางแผนการกระจายวัคซีนล่วงหน้าแล้ว แต่เมื่อเกิดความคลาดเคลื่อนในการจัดส่งวัคซีนตามแผน ก็ต้องมีการปรับแผนตามสถานการณ์ ซึ่งต้องขออภัยแก่พี่น้องประชาชนทุกคน เมื่อได้รับวัคซีนแล้วจะเร่งการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนที่ลงทะเบียนแล้วโดยเร็วที่สุด 


ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ว่า การทำงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เป็นผู้อนุมัติหลักการต่างๆ เพื่อให้หน่วยงสนระดับรองลงมานำไปปฏิบัติ กรณีการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข มีบทบาทจัดสรรวัคซีนตามที่ ศบค.เห็นชอบร่วมกันกับหน่วยงานราชการและการนำเสนอของกรมควบคุมโรค ดังนั้นหน่วยงานข้างต้นต้องเห็นพ้องต้องกัน จึงสรุปออกมาว่าจะให้กระทรวงสาธารณสุขจัดส่งวัคซีนไปที่ไหน อย่างไร เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) จังหวัดต่างๆ หน่วยงาน องค์การ หรือสมาคมห้างร้าน

"จะกำชับกับกรมควบคุมโรคให้แจ้งกับหน่วยงานที่รับวัคซีนให้ชัดเจน เพื่อให้เฉลี่ยวัคซีนแต่ละสัปดาห์ โดยจะต้องหารือกันว่าหากส่งวัคซีนไปเท่าไร ก็ให้บริหารจัดการตามเหมาะสม และอาจให้คาดการณ์จำนวนวัคซีนลอตถัดไปด้วย แม้จะไม่ทราบวัน-เวลาที่ส่งที่แน่นอน แต่ให้บอกช่วงการคาดการณ์ไป ซึ่งเหมือนกับที่ไทยรับวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซเนก้า ที่แจ้งเป็นรายสัปดาห์ ขณะนี้ 2 สัปดาห์แรก แต่ส่วนกลางต้องบริหารกว่า 100 ล้านโดส อาจขลุกขลักในช่วงต้นบ้าง ต้องขออภัยประชาชน" นายอนุทิน กล่าว

 

ที่มา thairath






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.