เปิดตัว "รถดมไว" ฐานปฏิบัติการ "น้องตูบ" คัดกรองโควิดจากผู้ไม่แสดงอาการ แม่นยำถึง 96%
17 มิ.ย. 2564, 14:54
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดตัว "รถดมไว เพื่อนำสุนัขดมกลิ่นคัดกรองโควิด-19 ออกปฏิบัติงานภาคสนาม" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ บริษัทเชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด และบริษัทพีคิวเอ แอสโซซิเอส จำกัด พร้อมทั้งภายในงานยังสุนัขลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ 6 ตัว ที่ได้รับการฝึกดมกลิ่นผู้ติดเชื้อโควิด และชมการตรวจคัดกรองตัวอย่างเหงื่อบน "รถดมไว" ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยเคลื่อนที่สำหรับการปฏิบัติงานของสุนัข
รถที่ออกแบบจะคำนึงถึงความสะดวกสบายของสุนัข โดยทำงานในห้องแอร์เย็นสบาย ขั้นตอนการทำงาน คือ เราจะใช้สำลีหนีบไว้ที่รักแร้ของผู้สัมผัสทั้งสองข้างข้างละ 5 นาทีเพื่อเก็บเหงื่อจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมการณ์ให้สุนัขดมเนื่องจากกลิ่นเหงื่อของแต่ละคนจะมีกลิ่นเฉพาะ ซึ่งสุนัขมีความสามารถรับกลิ่นได้มากกว่ามนุษย์ถึง 50 เท่า ขณะที่เชื้อไวรัสโควิดก็มีกลิ่นเฉพาะตัวของมันเช่นกัน หากสุนัขดมกลิ่นเหงื่อแล้วไม่ได้กลิ่นก็จะเดินผ่าน แต่หากดมแล้วมีเชื้อโควิด สุนัขก็จะนั่งลง เราก็จะนำบุคคลนั้นไปตรวจหาเชื้อ โดยวิธีการ RT-PCR อีกครั้ง
ทั้งนี้ จากการทดสอบสุนัขดมกลิ่นมีความแม่นยำในการตรวจหาเชื้อถึง 96% วิธีการนี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ตรวจเชิงรุกได้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งลดภาระการสว๊อป โดยแต่ละรอบสุนัขสามารถดมกลิ่นได้รอบละ 12 ตัวอย่างในภาพรวมสามารถตรวจได้วันละ 600 ถึง 1,000 ตัวอย่าง
ในเดือนมีนาคม 2564 สุนัขดมกลิ่นได้ให้บริการตรวจคัดกรองแก่พนักงานบริษัทเชฟรอน ฯ และสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา มาแล้ว จำนวนกว่า 500 ราย เมื่อมีการระบาดของโรคในกรุงเทพฯ สุนัขดมกลิ่นจึงได้เดินทางจากจังหวัดสงขลา มาตั้งจุดตรวจที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้บริการตรวจคัดกรองแก่บุคลากรจุฬาฯ ผู้ป่วยติดเตียง (โดยความร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) โดยมีอาสา พม. ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเหงื่อมาส่งตรวจแล้วจำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,500 ราย
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสจากสิ่งแวดล้อมไปบนตัวสุนัขในระหว่างลงพื้นที่คลัสเตอร์ต่าง ๆ จึงได้มีการออกแบบห้องปฏิบัติงานเคลื่อนที่ “รถดมไว” พร้อมอุปกรณ์มาตรฐานตามข้อกำหนดของกรมควบคุมโรค ซึ่งจะสร้างความปลอดภัยทั้งผู้ที่มารับการตรวจและสุนัขที่ปฏิบัติงาน อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน และคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นใหม่ในแต่ละวัน
ขอบคุณที่มา : hfocus