สุดอาลัย ! "มาเรียม" พะยูนน้อยขวัญใจชาวไทย จากไปอย่างสงบแล้ว
17 ส.ค. 2562, 09:32
เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้โพสต์ข้อความถึงการจากไปของมาเรียม พะยูนน้อย หลังจากที่ทีมแพทย์พบว่า มาเรียม หยุดหายใจ และไม่เจอชีพจรในบ่ออนุบาลชั่วคราว ริมฝั่งเกาะลิบง จึงรีบนำขึ้นจากน้ำ เพื่อกระตุ้นหายใจ และพบว่ายังมีการตอบสนอง จึงเอากลับลงบ่อ พร้อมตรวจชีพจรซ้ำ แต่ต่อมาไม่เจอชีพจรอีก จึงฉีดยาช่วยชีวิต และเอาขึ้นจากบ่อรอบที่ 2 จนกระทั่งต่อมามาเรียม ได้จากไปอย่างสงบ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 เวลา 00.09 น. ในขณะที่มีอายุ 9 เดือน น้ำหนัก 26 กิโลกรัม ความยาว 122 เซนติเมตร
ล่าสุดที่บริเวณท่าเรือหาดเจ้าไหม ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าหมู่เกาะลิบง และทีมสัตวแพทย์กว่า 10 คน ได้ร่วมกันนำซากมาเรียม ขึ้นฝั่ง โดยแช่เย็นไว้ในกระบะ และนำขึ้นรถยนต์เดินทางมายังพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เพื่อทำการผ่าพิสูจน์ นำโดย รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ หรือหมอหนิ่ง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหาสาเหตุการตายที่แท้จริงต่อไป ท่ามกลางบรรยากาศที่โศกเศร้าและแสนอาลัยพะยูนน้อย
นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง กล่าวว่า ตั้งแต่มาเรียม มาอยู่ที่เกาะลิบง เมื่อวันที่ 29 เมษายน จนถึงวันนี้ (17 ส.ค.) รวมเป็นเวลา 111 วัน ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกแรงใจ และขอบคุณเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ทุกสถาบัน รวมทั้งพี่น้องชาวบ้านเกาะลิบง โดยที่ผ่านมาทุกฝ่ายก็ได้ดูแลมาเรียม เป็นอย่างดี และทำจนสุดความสามารถแล้ว แต่เนื่องจาก 4-5 วันที่ผ่านมา มาเรียม ร่างกายอ่อนแอลง และไม่กินอาหาร โดยสัตวแพทย์ได้ให้สารอาหารเหลว ทำให้ประคองตัวเองได้อยู่ระยะหนึ่ง จนเมื่อคืนที่ผ่านมา มาเรียม เกิดสภาวะช็อค และสัตวแพทย์จึงได้ปั้มหัวใจ และให้สารอาหารประมาณครึ่ง ชม. แต่ก็ไม่สามารถที่จะช่วยชีวิตไว้ได้
ทั้งนี้ จากกรณีของมาเรียม ทำให้เห็นว่ามนุษย์ได้มีความเมตตา และพยายามช่วยชีวิตสัตว์น้อยกำพร้าแม่ ซึ่งที่ผ่านมามาเรียม ก็ให้ความร่วมมืออย่างดี เหมือนเป็นการรับรู้กันสื่อสารกันได้ ในเรื่องของประสาทสัมผัสระหว่างมนุษย์กับสัตว์ และเจ้าหน้าที่ก็ได้นำมาเรียม มาเลี้ยงโดยธรรมชาติในระบบเปิด จนเป็นครั้งแรกของประเทศหรือของโลก ซึ่งผู้คนโดยเฉพาะที่ติดตามทางโซเชียล ได้ให้ความสนใจมาเรียม เยอะมาก เนื่องจากความน่ารัก และอยู่กับมนุษย์อย่างเสมือนเป็นแม่ จนทำให้เกิดกระแสการอนุรักษ์พะยูนที่จะส่งผลชัดเจนขึ้นและยั่งยืนสู่อนาคตต่อไป