มท.ขับเคลื่อนยุทธการพิชิตภัยยาเสพติด ด้วยแนวคิดวิถีใหม่
25 มิ.ย. 2564, 12:15
วันนี้ (25 มิ.ย.64) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า มติการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ เมื่อเดือนมิถุนายน 2530 ได้กำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก ซึ่งยาเสพติดเป็นปัญหาที่ถูกกำหนดให้เป็นแผนแม่บทย่อยด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภายใต้ประเด็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงในยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งยึดแนวคิดการแก้ไขปัญหายาเสพติดตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ซึ่ง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีข้อสั่งการและเน้นย้ำประเด็นการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ด้วยการจัดทำแคมเปญรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก 26 มิถุนายน 2564 เน้นการรณรงค์เพื่อลดผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด (Demand side) และลดผู้ผลิต/ผู้ค้า (Supply side) โดยอาศัยกลไกในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหา ภายใต้กรอบแนวทาง/กิจกรรมที่สอดคล้องกับการดำเนินงานของ สำนักงาน ป.ป.ส. และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงสาธารณสุข
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยโดยศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกระทรวงมหาดไทย (ศอ.ปส.มท.) ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก 26 มิถุนายน 2564 ภายใต้แนวคิด "การสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติด" โดยสั่งการให้ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด ดำเนินการตามแนวทางฯ ได้แก่ 1) มาตรการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด เพื่อลดผู้ผลิต/ผู้ค้า (Supply side) แบ่งเป็น 1. พื้นที่ชายแดน โดยผนึกกำลังสกัดกั้นตามแนวชายแดน จัดชุดลาดตระเวน ตรวจตรา เฝ้าระวัง สกัดกั้น ป้องกันการลักลอบนำเข้า/ลำเลียงยาเสพติด ควบคู่กับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของแรงงานต่างด้าว การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ และ 2. พื้นที่ตอนใน โดยบูรณาการการปราบปรามผู้ค้ารายย่อยในหมู่บ้าน/ชุมชน อย่างน้อยตำบลละ 1 หมู่บ้าน โดยการปิดล้อม ตรวจค้น ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ควบคู่กับมาตรการเชิงรุกของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมาตรการจัดระเบียบสังคม และ 2) มาตรการป้องกันยาเสพติด เพื่อลดผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด (Demand side) ประกอบด้วย 1. รณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโทษพิษภัยจากยาเสพติด ผ่านทุกช่องทางอย่างหลากหลาย รวมทั้งดำเนินการตามแนวทางการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ฯ ของสำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน 2. Re X-ray บุคลากรกระทรวงมหาดไทยทุกระดับต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน ปลอดภัยจากยาเสพติด 3. รับเรื่องราวร้องทุกข์/ร้องเรียนเกี่ยวกับยาเสพติด และรับแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับยาเสพติด ณ ศูนย์ดำรงธรรม ทุกแห่ง และสายด่วน 1567 และ 4. สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทย โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกระทรวงมหาดไทย มุ่งมั่นขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกันปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ผ่านกลไกทุกระดับ เพื่อให้ปัญหายาเสพติดหมดไปจากสังคมไทยอย่างยั่งยืน