เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ศบค.มท.สั่งผู้ว่าฯทุกจว.เข้มงวดปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ-คำสั่งศบค. -เร่งสร้างความรับรู้ปชช.ในพื้นที่


28 มิ.ย. 2564, 19:32



ศบค.มท.สั่งผู้ว่าฯทุกจว.เข้มงวดปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ-คำสั่งศบค. -เร่งสร้างความรับรู้ปชช.ในพื้นที่




วันนี้ ( 28 มิ.ย.64 ) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิ.ย. 64 และคำสั่ง ศบค. ที่ 6/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดฯ 

เพื่อให้การดำเนินการตามข้อกำหนดฯ และคำสั่ง ศบค. ข้างต้น เป็นไปด้วยความเรียบร้อย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดรับทราบและถือปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด พร้อมสร้างการรับรู้แก่ผู้ประกอบการ พนักงานผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ตลอดจนนำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 24) มาใช้บังคับกับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 25) เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกัน โดยได้เน้นย้ำให้กรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หารือกับคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ดำเนินการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของกลุ่มแรงงาน และเขตชุมชน โดยแบ่งเป็น 3 กรณี คือ



1) กรณีของกลุ่มแรงงานก่อสร้าง ให้ถือปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 25 โดยหารือร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน พิจารณามีคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้าง ปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงาน ให้หยุดงานก่อสร้างและห้ามเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นการชั่วคราว พร้อมประสานการปฏิบัติกับฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการในการปฏิบัติตามคำสั่ง ตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรค จัดทำทะเบียน รวมทั้งวางระบบในการตรวจตรา เฝ้าระวังมิให้แรงงานออกนอกพื้นที่ที่ถูกปิดอย่างเด็ดขาด 2) กรณีกลุ่มแรงงานในสถานประกอบการและโรงงาน ให้หารือร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข วางระบบการดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) ตามที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งกำกับหรือจำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทางเข้าออกเขตพื้นที่สถานประกอบการหรือโรงงาน และ 3) กรณีของเขตชุมชน ให้วางระบบให้พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเข้าไปตรวจตราเขตชุมชน ตลาด หรือสถานที่ที่ได้ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค เข้าตรวจคัดกรองเชิงรุก และเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อ ตามกระบวนการทางสาธารณสุข กรณีพบแหล่งที่มีการระบาดของโรคเป็นกลุ่มก้อน ให้มีคำสั่งควบคุมโรคตามมาตรการสาธารณสุขอย่างรวดเร็วและเข้มงวด 


ในส่วนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และจังหวัดสงขลา) ให้หารือกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นย้ำมาตรการการตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด ตรวจคัดกรองการเดินทางอย่างเข้มข้น เพื่อสกัดกั้นและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด รวมทั้งทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ งดเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดและออกนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตาม กรณีมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัด ต้องแสดงบัตรประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่น ๆ ควบคู่กับเอกสารรับรองความจำเป็นที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่นั้น โดยดำเนินการตามหลักเกณฑ์การตรวจคัดกรองการเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และจังหวัดสงขลา) และสำหรับในส่วนของจังหวัดอื่น ๆ ให้ดำเนินการใน 2 ลักษณะ คือ 1) วางระบบและมาตรการป้องกันโรค โดยให้ประสานการปฏิบัติกับฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด ตรวจคัดกรองการเดินทางอย่างเข้มงวด รวมทั้งมอบหมายนายอำเภอ แจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บูรณาการความร่วมมือในการติดตาม ค้นหา และคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าหมู่บ้าน/ชุมชนทุกราย กรณีพบผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันโรค โดยคุมไว้สังเกต ณ ที่พำนัก เป็นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นเดินทางเข้ามายังพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน และให้งดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ นอกหมู่บ้าน/ชุมชนโดยเด็ดขาด หากพบเชื้อให้แยกกักหรือกักกันตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด โดยจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่เดินทางเข้าหมู่บ้าน/ชุมชน รวบรวมส่งให้อำเภอบันทึกข้อมูลเข้าระบบรายงานข้อมูลผู้เดินทางเข้าหมู่บ้าน/ชุมชน (Thai QM) และ 2) มอบหมายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการในพื้นที่ไม่ให้รับแรงงานต่างด้าวที่เดินทางจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เข้าทำงานในสถานประกอบการ เนื่องจากจะมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ และอาจต้องถูกดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย

นอกจากนี้ ให้ประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปม.ตร.) และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง เหล่าทัพ (ศปม.เหล่าทัพ) ในพื้นที่ วางแผนจัดวางกำลังและการปฏิบัติ ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยร้องขอกำลังสนับสนุนจากหน่วยงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงในพื้นที่ พร้อมกันนี้ หากคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ได้มีมติให้ออกประกาศหรือคำสั่ง ให้จัดส่ง ศบค.มท. ทราบ เพื่อรายงานสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ไปยังประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบด้วย






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.