เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ ปลื้มทีมแพทย์-นักวิจัยไทยพัฒนาวัคซีนโควิดก้าวหน้า


30 มิ.ย. 2564, 14:37



นายกฯ ปลื้มทีมแพทย์-นักวิจัยไทยพัฒนาวัคซีนโควิดก้าวหน้า




วันที่ 30 มิถุนายน 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามและแสดงความชื่นชมความก้าวหน้าผลงานวิจัยวัคซีนโควิด-19 โดยทีมแพทย์และนักวิจัยไทย ถือเป็นอีกความหวังของประเทศในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ 2 แนวทางสำคัญ คือ 1) ให้การสนับสนุนสถาบันวัคซีนแห่งชาติ คณะแพทย์ในมหาวิทยาลัย และองค์กรชั้นนำ ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในรูปแบบต่างๆ และ 2) รับการถ่ายทอดกระบวนการผลิตวัคซีนจากต่างประเทศโดยบริษัท Siam Bioscience Co,.Ltd. ของประเทศไทย เพื่อเป็นการวางรากฐานในไทยพึ่งพาตนเองด้านวัคซีน ลดงบประมาณการจัดซื้อและสามารถส่งออกเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคตอีกด้วย



สำหรับความคืบหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ประกอบด้วย 

1. โครงการศึกษาวิจัยระยะที่ 1/2 เพื่อประเมินความปลอดภัย และความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีน NDV-HXP-S ในประเทศไทยโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มฉีดอาสาสมัครเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ซึ่งวัคซีน NDV-HXP-S มีจุดเด่น คือ โรงงานขององค์การเภสัชกรรมมีความพร้อมในการผลิตระดับอุตสาหกรรม โดยไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานใหม่ ใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และได้รับความร่วมมือระดับนานาชาติจากองค์กร PATH ในการสนับสนุนกล้าเชื้อไวรัส การให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และร่วมกันวิจัยจากผู้ผลิตจากประเทศเวียดนามและบราซิล

2. โครงการพัฒนาเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 โดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตเช่นเดียวกับวัคซีนจาก Pfizer-BioNTech และวัคซีนจาก Moderna ผลศึกษาการทดลองใน “หนู และ ลิง” พบว่ามีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในระดับสูง ช่วยยับยั้งการติดเชื้อในสัตว์ทดลองได้ เริ่มการศึกษาในมนุษย์ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ทดสอบในระยะที่ 1 ใช้อาสาสมัครจำนวน 72 คน ซึ่งวัคซีน ChulaCov19 มีจุดเด่น คือ สามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) ได้นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นาน 2 สัปดาห์ จากการทดลองในหนูทดลองชนิดพิเศษที่ออกแบบให้สามารถเกิดโรคโควิด-19 ได้ พบว่า เมื่อหนูได้รับการฉีดวัคซีน ChulaCov19 ครบ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ แล้วให้หนูทดลองได้รับเชื้อโควิด-19 เข้าทางจมูก สามารถป้องกันหนูทดลองไม่ให้ป่วยเป็นโรคและยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไปอย่างน้อย 10,000,000 เท่า มีความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง วัคซีนชนิด mRNA ยังสามารถปรับแต่งวัคซีนต้นแบบตามพันธุกรรมของเชื้อกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว


3. โครงการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ชนิด DNA (วัคซีนโควิเจน) โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ผลการทดสอบในหนูทดลองพบว่า วัคซีนมีความปลอดภัย และสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขออนุมัติกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อทดสอบในมนุษย์ในระยะที่ 1 และคาดว่าจะวิจัยในคนระยะที่ 2 และ 3 ในปีนี้ (ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564) โดยมีแผนการทดสอบในมนุษย์ในระยะที่ 1 ในประเทศออสเตรเลียคู่ขนานกันไป นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยของบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CU Innovation Hub ที่ใช้ใบยาสูบเป็นพืชในกระบวนการสร้างวัคซีน หลังจากที่มีการผลิตวัคซีนล็อตแรกเสร็จ จะนำไปสู่ขั้นตอนของการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ คาดจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงกันยายนนี้

น.ส.รัชดา กล่าวว่า บริษัท AstraZeneca ประเทศไทย แจ้งว่าจะทำการส่งมอบวัคซีนให้กระทรวงสาธารณสุข ครบ 6 ล้านโดสในสัปดาห์นี้ ตามแผนทั้งหมด 61 ล้านโดส และในช่วงต้นของเดือนกรกฎาคม จะมีวัคซีน AstraZeneca จากการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น อีกจำนวน 1.05 ล้านโดส ขณะเดียวกัน ระบบ”หมอพร้อม” ได้เลื่อนการฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้นแก่ผู้ลงทะเบียนกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง ในพื้นที่กทม.จากเดือน สิงหาคม เป็น กรกฎาคม ส่วนกรมการแพทย์ ได้เปิดให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป สามารถรับการฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ แบบระบบ On-site เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ โดยจะเริ่ม 30 มิถุนายน-18 กรกฎาคม ทั้งนี้ รัฐบาลได้เร่งเดินหน้า ตามแผนการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรร้อยละ 70 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ประเทศเร็วที่สุด

 

ที่มา matichon






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.