"นครพนม" พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งพรวด 18 ราย หลังแคมป์คนงาน - โรงงานปิด
2 ก.ค. 2564, 16:41
วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานจากห้องประชุมพระธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นพ.มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด เผยพบผู้ป่วยยืนยันผล 18 ราย (รายที่ 195-212) ถือว่าเป็นยอดผู้ป่วยประจำวันจำนวนมากที่สุดของจังหวัด รวมยอดสะสม 212 ราย รักษาหายแล้ว 143 ราย กำลังรักษา 67 ราย เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งในจำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ใน รพ. มี 1 รายที่อยู่ในขั้นวิกฤต
ผวจ.นครพนม เปิดเผยว่าไม่เกินความคาดหมายที่จะมีผู้อพยพจากพื้นที่เสี่ยงกลับภูมิลำเนา ในจำนวน 18 รายนี้ไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในพื้นที่ เพราะก่อนหน้าที่พวกเขาจะเดินทางเข้านครพนม ได้โทรศัพท์ประสานมายังสายด่วนสำนักงานสาธารณสุขฯ จึงมีเจ้าหน้าที่แนะนำช่วงระหว่างการเดินทาง โดยกำชับห้ามเข้าไปในหมู่บ้านชุมชน ต้องไปรอรับการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลเท่านั้น ทุกคนก็ปฏิบัติตามจึงไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง
นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อฯ ได้ปรับแผนให้เข้มข้นตามสถานการณ์ปัจจุบัน โดยหลังผู้ป่วยจากพื้นที่เสี่ยงเข้าสู่ระบบสาธารณสุขแล้ว นอกเหนือจากการสอบสวนโรคแล้วจะต้องหาข้อมูลเชิงรุก เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น และเพื่อความปลอดภัยของลูกหลานชาวนครพนม จึงเลื่อนเปิดโรงเรียนทุกแห่ง จากเดิมต้องเปิดการเรียนการสอนในวันที่ 5 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ มติคณะกรรมการฯให้ปิดต่อไปอีก 1 สัปดาห์ เพื่อดูสถานการณ์ในภาพรวมของประเทศ
สำหรับงานด่วนที่ต้องลงมือทำทันที คือ สั่งทุกอำเภอเปิด LQ (Local Quarantine) สถานที่กักตัวที่รัฐจัดให้ เนื่องจากพบอัตราการติดเชื้อในครอบครัวสูงมาก จึงยกเลิกกักตัวอยู่ที่บ้านโดยเด็ดขาด ส่วนสถานที่กักตัวอย่างเช่นในเขตอำเภอเมืองนครพนม ได้รับการอนุเคราะห์จากโรงแรมระดับ 5 ดาว ยกโรงแรมให้เป็นที่กักตัวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อแยกคนป่วยกับคนไม่ป่วยออกจากกัน ถ้าหากเป็นอำเภออื่นๆหรือหมู่บ้านชุมชนก็จะมีรีสอร์ท โดยการกักตัวต้องเป็นไปอย่างเข้มข้น
พร้อมทั้งฟื้น รพ.สนามกลับขึ้นมาใหม่ หลังปิดตัวไปตามจำนวนผู้ป่วยที่ลดลง โดยมี รพ.สนาม อ.เรณูนคร รับผู้ป่วยได้จำนวน 100 เตียง รพ.สนาม อ.ธาตุพนม จำนวน 30 เตียง และ รพ.สนามจิตเวช สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 36 เตียง ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเซฟบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้อ่อนล้าเกินไป ที่สำคัญประชาชนในพื้นที่ ต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกันสอดส่องบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง
ด้าน นพ.มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่าจำนวนผู้ป่วยที่พบทั้ง 18 ราย ไม่มีไทมไลน์ในพื้นที่ เพราะทุกคนมีวินัยในการรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม เมื่อรู้ว่าตนเองติดเชื้อโควิดก็ประสานเจ้าหน้าที่ก่อนกลับภูมิลำเนา และก็มีผู้ประสงค์จะเข้ามารักษาตัวใน รพ.อย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์ สสจ.ฯ กล่าวต่อว่า ส่วนมากผู้ป่วยจะติดเชื้อกันในครอบครัว อาชีพที่พบเป็นแรงงานก่อสร้าง และพนักงานบริษัท บางรายไปขอตรวจที่ รพ.หลายแห่ง แต่แพทย์ไม่ยอมตรวจให้ จึงต้องเดินทางกลับบ้านเกิดตัวเอง หากเข้าสู่ระบบสาธารณสุขที่ทางจังหวัดกำหนด ยืนยันว่ามีเตียงรองรับเพียงพอ โดยตัวเลขผู้ป่วยจะมีอัตราสูงระยะหนึ่ง เมื่อทุกอย่างเข้าร่องเข้ารอยตัวเลขก็ดิ่งลงเอง
สำหรับหญิงสาวอายุ 31 ปี ตั้งครรภ์แก่กว่า 8 เดือน ที่ติดเชื้อจากสามี หลังทีมสูติแพทย์ รพ.นครพนม ผ่าคลอดไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยการผ่าตัดสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เป็นเพศหญิงน้ำหนักเกือบ 3,000 กรัม สุขภาพทั้งแม่และลูกแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีการแทรกซ้อนใดๆ ซึ่งเด็กทารกยังอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนคุณแม่ก็ถูกแยกไปอยู่ห้องพิเศษเพื่อรักษาอาการป่วยโควิด ร่วมกับการดูแลหลังคลอด ล่าสุดญาติยังไม่มีการแจ้งเกิดและตั้งชื่อจริงรวมทั้งชื่อเล่น
โดยสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงถึงการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ในประเทศไทย ว่า เฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพรวมทั้งประเทศ มีสายพันธุ์แอลฟา (อังกฤษ) 80.19%,สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) 16.59%,สายพันธุ์ เบตา (แอฟริกาใต้) 3.2% โดยพบว่าพื้นที่ กทม. 1 ใน 3 หรือ 32.39% เป็นสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย)
ส่วนในภูมิภาค สายพันธุ์เดลต้า ขยับขึ้นจาก 5% เป็น 7% ทำให้คาดว่าอีก 2-3 เดือน สายพันธุ์เดลต้า อาจจะมากกว่าสายพันธุ์แอลฟา (อังกฤษ) เดิม
โดยใน กทม.สายพันธุ์เดลต้า เพิ่มมากที่สุด 331 ราย ส่วนใหญ่เป็นแคมป์คนงานที่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ จะเจอทั้งเดลต้า ทั้งแอลฟ่า ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา กทม.พบเดลต้าเพิ่มขึ้น 459 ราย ส่วนจังหวัดอื่นๆ สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) สัปดาห์นี้มีเพิ่มที่ จ.พะเยา เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ อุทัยธานี นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ อุดรธานี สกลนคร นครพนม บึงกาฬ เลย หนองคาย และ หนองบัวลำภู ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางจาก กทม.