"อธิบดีกรมการแพทย์" เผย ! กทม. ขยายเตียงกว่า 300% รองรับผู้ป่วยโควิดอย่างต่อเนื่อง ขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกัน
3 ก.ค. 2564, 15:30
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงถึงประเด็นสำคัญด้านการแพทย์และสาธารณสุขในเรื่องเตียงและสถานที่รองรับผู้ป่วย ว่า มีการแบ่งเป็นภาพรวมทั้งประเทศ ภาพเฉพาะพื้นที่และภาพกทม. หากภาพทั้งประเทศจำนวนเตียงเฉลี่ยทั้งประเทศยังพอรับได้ ซึ่งในภาครัฐมีเตียงอยู่ประมาณ 70,000 กว่าเตียงทั่วประเทศ และในขณะนี้ก็พยายามไปเสริมเฉพาะพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ ปริมณฑล ที่มีการขยายเตียงโอเวอร์ไปประมาณ 200-300% รวมกับทางภาคใต้ที่มีการระบาดใน 3 จังหวัดบวกกับจ.สงขลา ซึ่งเป็นส่วนที่พยายามเตรียมเตียงเพิ่ม
ทางเรา ต้องเรียนว่าหากไม่จำเป็น ก็ไม่อยากใช้มาตรการ Home Isolation แต่ในบางพื้นที่ หากยกตัวอย่างชัดๆ คือกรุงเทพฯ และปริมณฑลบางจังหวัด ที่ในขณะนี้สถานการณ์ค่อนข้างหนัก อย่างไรก็ตามจากการที่พยายามขยายเตียงแบ่งออกมา 200-400% จากเตียงแดงแบ่งได้น้อยประมาณเท่าตัว เพราะต้องการผู้เชี่ยวชาญ แต่เตียงเหลืองจะเพิ่มขึ้นมาเยอะ และต้องขอบคุณเตียงเขียว ว่ามีความงดงามบางอย่างที่เกิดขึ้น เพราะทุกฝ่ายมาช่วยกันและเข้าใจว่าประชาชนคงได้ข่าวว่ามีการขยายเตียงไอซียูเพิ่มขึ้นอีกรวมๆ ประมาณ 50 เตียง เช่นที่ธรรมศาสตร์รังสิต ที่ รพ.รามาฯ ที่รพ.วชิระฯ เป็นต้น
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า มีเตียง มีอุปกรณ์พร้อมหมด ขาดเพียงแค่บุคลากรทางการแพทย์ จึงต้องให้หมอที่เพิ่งเรียนจบ แพทย์เฉพาะทาง อย่าเพิ่งกลับไปใช้ทุนต่างประเทศ ให้มาช่วยกันตรงนี้ รวมทั้งระดมพยาบาลไอซียูจากต่างจังหวัดมาช่วยด้วย ตนคิดว่าสิ่งนี้เห็นความชัดเจน และมีการเตรียมเตียงไอวียูเพิ่มอีกในหลายๆ ที่ ซึ่งเมื่อวานนี้ก็ได้มีการไปเปิดที่มทบ.11 โดยเป็นการใช้ที่กลาโหม แต่นำเอกชนมาช่วยทำ เป็นความร่วมมือในทุกภาคส่วน กทม.เอง ก็ไปขยายเตียงสีเหลืองและสีแดงเพิ่ม สีเขียวเอกชนมาร่วม ซึ่งได้ข่าวมาว่าเอกชนหลายแห่งมาขยายสีเขียวเพิ่มอีก 4,000 เตียง นี่เป็นการที่พยายามดึงคนไข้มาไว้ที่โรงพยาบาลก่อน
อย่างไรก็ตาม จากการทำงานของคอลเซนเตอร์ทั้ง 1330 และ 1668 1669 ก็พบว่ายังมีคนที่ค้างรอเตียงที่บ้านเป็นจำนวนมาก จึงมีการคิดว่าทำอย่างไรที่คนรอเตียงอยู่จะสามารถไปดูแลที่บ้านได้ จึงมีการคิดมาตรการ Home Isolation ที่โรงพยาบาลสามารถไปดูแลคนไข้ที่บ้านได้ เช่น การวัดปรอทที่บ้าน วัดไข้ วัดออกซิเจนในกระแสเลือดซึ่งหากค่าออกซิเจนเกิน 3% ก็จะให้มาที่โรงพยาบาล ส่งอาหารให้ทาน 3 มื้อเพื่อที่จะได้ลดการแพร่เชื้อรวมถึงมีการวิดิโอคอลวันละ 2 ครั้งเพื่อติดตาม เพราะการทำ Home Isolation มีปัญหาแน่นอน กลัวว่าสุขภาพของผู้ป่วยจะแย่ลง หากมีการติดตามก็คาดว่าจะไม่มีปัญหา
ทั้งนี้ ในการทำ Home Isolation จะสามารถทำได้แค่กับคนที่มีห้องส่วนตัวที่อยู่คนเดียว เราจึงมีมาตรการการทำ Community Isolation คือการนำผู้ติดเชื้อมาแยกกักตัวที่อาจจะเป็นศาลาวัด หอประชุมโรงเรียนแม้กระทั่งในโรงงานเอง หากเราสามารถแยกคนไข้ออกมาได้ก็ต้องมีที่ให้เขาอยู่ ทั้งนี้ ได้มีภาคสังคมเข้ามาร่วม มีกทม.เจ้าของพื้นที่มาช่วยทำ มีโรงพยาบาลเอกชนด้วย ซึ่งในขณะนี้ก็จะมีโรงพยาบาลรัฐร่วมด้วย นี่เป็นมาตรการที่จะไปช่วยกันดู และขอเรียนว่าสถานการณ์ค่อนข้างตึง
นอกจากนี้ ได้รับแจ้งจากผอ.โรงพยาบาลราชวิถีว่า ได้ทำห้องฉุกเฉินเพิ่มออกมาจากห้อง ER และเนื่องจากมีหญิงท้องติดโควิดเป็นจำนวนมากแต่โรงพยาบาลต่างๆ ไม่ค่อยรับ ซึ่งต้องขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลต่างๆ ช่วยกันรับเพราะเมื่อเด็กคลอดและต้องแยกไปที่โรงพยาบาลเด็กเกิดปัญหาเตียงไม่พอ หากทุกภาคส่วนช่วยกันตนคิดว่าจะเป็นเรื่องที่ดี