สะเทือนใจ! ป้าร่ำไห้แทบขาดใจ แม่พันธุ์ควายราคา 5 หมื่นป่วยโรคลัมปีสกินดับ
7 ก.ค. 2564, 11:54
วันนี้ (7 ก.ค.64) ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่าได้รับคลิปจากเกษตรกร ที่พบว่าภายในคลิป มีเกษตรกรหญิงรายหนึ่งทราบชื่อคือ นางอยู่ มีศิริ ซึ่งเป็นภรรยา ของนายสนั่น มีศิริ ผู้ใหญ่บ้านกรวดหมู่ที่ 5 ตำบลหนองขวาว อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ กำลังนั่งฟุบร้องไห้ด้วยความเสียใจอยู่ข้างซากควายแม่พันธุ์ อายุ 7 ปี ของตนเอง ที่ชื้อมาเพื่อไว้เป็นแม่พันธุ์ในราคา 50,000 บาท เกิดเจ็บป่วย จากโรคลัมปีสกิน ได้ 7 วัน ก็มาล้มตาย เจ้าของซึ่งเลี้ยงดูประคบประหงมให้อยู่ในคอกอย่างดี และไปหาเกี่ยวหญ้ามาให้ควายกิน พอมาถึงบ้านจะเอาหญ้าให้ควายกิน ก็พบว่าควายตายไปเสียแล้ว จนเจ้าของถึงกับเข่าทรุดและนั่งร้องห่มร้องไห่สะอึกสะอื้น ด้วยความเสียใจ เป็นภาพที่น่าอนาถใจกับญาติพี่น้องและผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง
นายสนั่น มีศิริ อายุ 60 ปี ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านกรวดหมู่ที่ 5 ตำบหนองขวาว อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ และนาง อยู่ มีศิริ ภรรยา ของผู้ใหญ่บ้าน บอกว่า หลังจากที่ควายที่ชื่อกระทิงอายุ 7 ปี ล้มตายไป ด้วยโรคลัมปีสกินไปเมื่อเวลา13.00น.เมื่อวานนี้ซึ่งนางอยู่บอกกับผู้สื่อข่าวว่าควายที่ตนเองเลี้ยงมาถือว่าเป็นคนในครอบครัวอยู่ด้วยกันมานาน ถึง 7 ปี มีลูกด้วยกัน 3 ตัว และเหลืออลูกอีกหนึ่งตัว ที่ติดแม่ในขณะนี้จะรอดหรือไม่รอดเพราะไม่มีนมให้ลูกกินหลังจากที่ควายตายแล้วตนเองก็นำมาฝังไว้ในพื้นที่นาของตนซึ่งห่างออกจากหมู่บ้านประมาณ 2 กม.ตนเองรู้สึกเสียใจมาก ที่เขาต้องมาตายจากเราไป
ทางด้านนายสนั่น บอกว่าควายตนเองซื้อมาในราคา 52,000บาทจากญาติของตนเองก่อนที่จะตายเกิดมีอาการบวมที่คอหลังจากนั้นจึงได้ให้อาสาปศุสัตว์มาฉีดยาบำรุงให้แต่อาการก็ไม่ดีขึ้นจนกระทั่งวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ควาย มีอาการทรุดตัวลงไปไม่สามารถลุกเดินได้จนกระทั่งมาเสียชีวิตในเวลาต่อมา และได้นำร่างมาฝังไว้ที่บ่อน้ำที่หนองนาและจะทำพิธีสงฆ์สวดบังสกุลให้เขาภายใน 2 -3 วันนี้ ด้าน นายสุเทพ ดอกจันทร์ กำนันตำบลหนองขวาว ได้เดินทางมาตรวจสอบกับควายที่ตาย พร้อมกับได้นำรูปภาพส่งให้กับปศุสัตว์อำเภอศีขรภูมิ เพื่อที่จะให้หาทางเยียวยาต่อไป
ขณะที่นายจำลอง ผูกดวง ปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า ข้อมูลของปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ พบว่าจนถึงปัจจุบันนี้มีสัตว์เลี้ยงชาวบ้านที่ป่วยด้วยโรคลัมปีสกินสะสมแล้วจำนวน 37,646 ตัว หายป่วยสะสม 2,364 ตัว มีสัตว์ตายสะสมทั้งสิ้น 1,399 ตัว โดยทั่วไปโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสมีแมลงเป็นพาหะนำโรค ดังนั้นการป้องกันและควบคุมเป็นไปด้วยความลำบาก เกษตรกรควรที่จะควบคุมที่ต้นทางด้วย คือการฉีดยาฆ่าแมลง เพื่อเป็นการกำจัดแมลงในพื้นที่เป็นหลัก เพื่อป้องกันพาหะนำเชื้อโรคเข้ามา ซึ่งจังหวัดสุรินทร์พบการแพร่กระจายไปแล้วทั้ง 17 อำเภอ ซึ่งปศุสัตว์สุรินทร์ ได้รับการจัดสรรวัคซีนมาจำนวน 6,980 โด๊ส โดยได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อฉีดวัคซีนในจุดเสี่ยงต่างๆที่ไม่พบโรคอย่างเร่งด่วนแล้ว ซึ่งหลักเกณฑ์การให้การช่วยเหลือตามอายุสัตว์ เช่นโคอายุ 6 เดือนขึ้นไป จะช่วยเหลือได้เป็นจำนวนเงิน 6000-20000 บาท กระบือเกณฑ์ช่วยเหลือตั้งแต่ 8000-22000 บาท โดยเกษตรกรสามารถขอความช่วยเหลือได้ตามขั้นตอนคือเริ่มแรกภายได้การแนะนำของปศุสัตว์อำเภอทุกอำเภอ ให้ช่วยเหลือจากท้องถิ่นก่อน หากท้องถิ่นไม่สามารถช่วยได้ให้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดส่งมายังอำเภอ จากนั้นอำเภอจะนำเข้าสู่ขั้นตอนการช่วยเหลือ จากคณะกรรมภัยพิบัติระดับอำเภอ หากไม่ได้ก็จะส่งเข้าระดับจังหวัด และหากมีจำนวนมากจังหวัดไม่สามารถช่วยได้ก็จะรวบรวมผ่านอนุกรรมการระดับจังหวัดส่งไปยังกระทรวง เพื่อพิจารณาช่วยเหลือต่อไป ดังนั้นในการช่วยเหลือเบื้องต้นท้องถิ่นสามารถพิจารณาช่วยเหลือได้