มท.ประชุมวางแผนการฝึกป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ ปี62 กรณีเกิดคลื่นสึนามิ
6 มิ.ย. 2562, 19:28
วันนี้ ( 6 มิ.ย.62 ) เวลา 10:00 น. ที่ห้องราชา โรงแรมรอแยล (รัตนโกสินทร์) กรุงเทพมหานคร นายปวิณ ชำนิประศาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เป็นประธานการประชุมวางแผนการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ. 2562 (Integrated Disaster Management Exercise : IDMEx) โดยมี ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ สมาคม มูลนิธิ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน
นายปวิณ ชำนิประศาสน์ เปิดเผยว่า พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ (IDMEx) ปี 2562 เพื่อกำหนดแนวทางและกรอบการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถดำเนินการได้อย่างทันต่อสถานการณ์และมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนภายใต้กรอบพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พ.ศ. 2558 - 2563
นายปวิณ ชำนิประศาสน์ กล่าวว่า จากกรณีการเกิดเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิอย่างต่อเนื่องบริเวณพื้นที่สาธารณรัฐอินโดนีเซียในห้วงที่ผ่านมา ส่งผลต่อความกังวลของประชาชนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ. 2547 โดย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้มีดำริให้มีการจัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการในการเตรียมพร้อมเผชิญเหตุคลื่นสึนามิในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เกี่ยวกับระบบการจัดการสาธารณภัยของประเทศไทย
นายปวิณ ชำนิประศาสน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ (IDMEx) ปี 2562 กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 25-30 มิถุนายน 2562 ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน มีผู้เข้าฝึกจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมฝึกกว่า 1,500 คน โดยกำหนดสถานการณ์เป็นการฝึกการจัดการสาธารณภัยระดับร้ายแรงอย่างยิ่ง (ระดับ 4) ภายใต้สถานการณ์สมมติกรณีการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลกลางมหาสมุทรอินเดียทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่เคลื่อนตัวเข้ากระทบพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยมุ่งเน้นทดสอบกลไกการประสานงานและบูรณาการการปฏิบัติของหน่วยงาน ทุกภาคส่วน ครอบคลุมทั้งกระบวนการแจ้งเตือนภัย การอพยพ และการจัดการผลกระทบที่ได้รับจากภัยสึนามิ
ด้าน นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุนการฝึกซ้อมมาอย่างต่อเนื่อง ซี่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ในฐานะฝ่ายเลขานุการ จะได้รวบรวมและประมวลข้อเสนอแนะจากทุกหน่วยงานเพื่อจัดทำคู่มือการฝึกและขยายผลการฝึกไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
จากนั้น คณะอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ได้มีการประชุมวางแผนแนวทางการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการทั้ง 4 คณะ ได้แก่ อนุกรรมการด้านการจัดทำสถานการณ์ฝึกและแนวทางการประเมินผล อนุกรรมการด้านการออกแบบและควบคุมการฝึก อนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และอนุกรรมการด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร