"นครพนม" เมินกักตัวเถียงนา ลุยตั้งรพ.สนามรองรับ ล่าสุดป่วยโควิดเพิ่ม 23 ราย
9 ก.ค. 2564, 14:37
วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 เวลา 11.30 น. ณ ห้องประชุมพระธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม มอบหมายให้นายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการฯ เป็นประธานแถลงข่าวประจำวันเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (covid-19) ร่วมกับ นพ.มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม(สสจ.ฯ) โดยมีรายงานว่าพบผู้ป่วยยืนยันผลเพิ่ม 23 ราย(เป็นรายที่ 353-375) รวมยอดป่วยสะสม 375 รักษาหายแล้ว 157 กำลังรักษา 215 กลับบ้านเพิ่มอีก 3 ราย
รอง ผวจ.นครพนม กล่าวว่า สถานการณ์ในจังหวัดนครพนม วันนี้มีผู้ติดเชื้อ 23 ราย ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่เสี่ยงกรุงเทพฯและปริมณฑล สาเหตุที่เข้ามาก็คือมีการล็อกดาวน์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะการปิดแคมป์คนงานก็มีคนได้รับผลกระทบดังกล่าว พี่น้องชาวนครพนมก็เดินทางเข้ามา อาจจะมีทั้งผู้ติดเชื้อและผู้ที่ไม่ติดเชื้อ หรืออยู่ในระหว่างการตรวจสอบโรค ซึ่งตรงนี้เราก็จะรับแล้วก็จะมีการแยกแยะอย่างชัดเจน โดยทางจังหวัดจะมีตัวเลขว่าพี่น้องของเราในแต่ละวันหรือในทั้งที่ในอนาคต ว่าเดินทางเข้ามามากน้อยเท่าไหร่ ซึ่งได้มีการวางแผนล่วงหน้าทั้งในเรื่องของสถานที่กักตัวหรือโรงพยาบาลสนาม ตรงนี้เราเตรียมด้านระบบต่างๆไว้อย่างดี ทั้งเรื่องอุปกรณ์ต่างๆตลอดจนที่พัก ล่าสุดมีการแจ้งขอเข้าพื้นที่แล้ว 118 ราย ทั้งนี้จะไม่อนุญาตกักตัวอยู่ที่บ้าน เพราะมีประสบการณ์แล้วว่าการกักตัวที่บ้าน สามารถแพร่เชื้อให้คนในครอบครัวได้ตลอดเวลา จึงต้องอยู่ในสถานที่ที่รัฐจัดให้เท่านั้น(Local Quarantine : LQ)
ซึ่งใน LQ ได้จัดระบบการดูแลด้านสุขภาพ และอาหารครบถ้วนเป็นอย่างดี เรื่องนี้ผู้เดินทางมาสบายใจได้ เนื่องจากเมื่อเข้ามาแล้วต้องได้ปฏิบัติตามกฎข้อระเบียบของจังหวัดนครพนม คือรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ด้วยการตรวจหาเชื้อ เชื้อโรคจะได้ไม่ไปแพร่กระจายไปถึงญาติพี่น้อง และถือว่าท่านมาถูกทางแล้ว ทุกคนปลอดภัยกันหมด
ด้าน นพ.มานพ ฉลาดธัญญกิจ เปิดเผยว่า แม้เชื้อโรคโควิดจะมีการกลายพันธุ์ ในส่วนของนครพนมตอนนี้สายพันธุ์หลักก็ยังเป็นสายพันธุ์อังกฤษ วันนี้พบผู้ติดเชื้อ 23 รายรวมสะสมอยู่ที่ 375 ราย กำลังรักษาอยู่ที่ 215 ราย และวันนี้กลับบ้านเพียง 3 ราย ประชาชนอาจจะสงสัยทำไมกลับบ้านน้อยจัง ต้องบอกว่าการรักษาในผู้ป่วย covid ต้องใช้ระยะเวลารักษาค่อนข้างนานคือ 10-14 วัน ประมาณวันที่ 14 กรกฎาคมเป็นต้นไปจะมีคนกลับบ้านเยอะขึ้น ถึง 30 คนต่อวันตามวงรอบของการเฝ้าระวังการเกิดเชื้อปะทุ
ในจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด 375 ราย ประมาณ 300 กว่ารายมาจากพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด คือไม่ได้เกิดจากนครพนมติดเชื้อกันเอง และในผู้ป่วยทั้ง 23 รายที่พบวันนี้ ไม่มีไทม์ไลน์อยู่ในพื้นที่ของนครพนมเลย คือรับมาจากต่างจังหวัดทั้งสิ้น ด้านมาตรการรองรับได้จัดหาสถานที่เพื่อเพิ่มปริมาณเตียงของผู้ป่วย ณ ปัจจุบันจนถึงประมาณสิ้นเดือนกรกฎาคม มีผู้แจ้งความประสงค์ทั้งสิ้นอยู่ที่ประมาณ 900 คน ถ้าดูจากตัวเลขเราพบว่าคนที่เดินทางมาทั้งหมด 20 % จะเป็นผู้ติดเชื้อทั้งหมด คาดเดาว่าถ้าเข้ามา 900 คน ประมาณ 180 คนจะเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด
ดังนั้น ทางจังหวัดนครพนมจะต้องเตรียมในส่วนของทรัพยากรเรื่องโรงพยาบาลสนาม เช่น โรงพยาบาลสนามที่มหาวิทยาลัยนครพนมเตรียมไว้ 220 เตียง ตลอดจนโรงพยาบาลสนามต่างอำเภออย่าง อ.ศรีสงคราม อ.ธาตุพนม และ อ.เรณูนคร จะมีเตียงรองรับรวมแล้วประมาณ 400 เตียง คาดว่าน่าจะเพียงพอ นะครับและอีกอย่างประมาณวันที่ 14 กรกฎาคม ผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลครบ 14 วันก็ค่อยๆออกไปวันละประมาณ 20-30 คน ซึ่งตรงนี้จำนวนคนที่นอนโรงพยาบาลก็จะลดลงเรื่อยๆ ที่สำคัญก่อนจะเดินทางเข้ามาขอให้ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ฮอทไลน์สายด่วน สสจ.นครพนม เพื่อจะได้เตรียมเตียงไว้รองรับแต่เนิ่นๆ หากเข้ามาโดยไม่แจ้งการจัดเตียงจะฉุกละหุกและเสียเวลานานมาก
นอกจากนี้ นายแพทย์ สสจ.นครพนม ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้พูดถึงสถานที่พักสำหรับผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการไม่มาก ในสถานการณ์ที่โรงพยาบาลทั่วประเทศเตียงผู้ป่วย COVID-19 ตึงมือ ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ในวงกว้างในโซเชียลมีเดียอย่างหลากหลาย ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเผยว่าจังหวัดนครพนมถือว่าเป็นต้นแบบการกักตัวที่เถียงนา ซึ่งการที่จะกักตัวที่เถียงนานั้นขึ้นอยู่ความมีวินัยของผู้กักตัว เพราะที่ผ่านมาเคยจัดให้กักตัวเองในเถียงนา แต่ปรากฏว่ายังมีการแอบออกไปร่วมรับประทานอาหาร หรือตั้งวงกับคนในชุมชน จนเป็นเหตุให้นำเชื้อไปแพร่สู่คนอื่น ทางจังหวัดจึงยกเลิกการกักตัวที่เถียงนา สู้กักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้แน่นอนกว่า มีคนเฝ้าดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่กักตัวเถียงนาไม่มีคนเฝ้าจึงมีโอกาสแพร่เชื้อไปสู่คนในชุมชนได้ตลอดเวลา