อาจารย์หมอ แนะข้อควรปฏิบัติหากเชื้อโควิดลงปอด แต่ยังไร้เตียงรักษา
11 ก.ค. 2564, 13:43
นายแพทย์ ธนีย์ ธนียวัน อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด วิกฤตบำบัด และการปลูกถ่ายปอด ทำงานเป็นอาจารย์แพทย์อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ออกโพสต์คลิปวิดีโอผ่านช่องยูทูป “Doctor Tany” ให้ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว ดูแลตัวเองเบื้องต้น หากเชื้อโควิด-19 ลงปอด แต่ไม่มีเตียงรักษา โดยมีวิธีการดังนี้
ในระหว่างรอเตียงโรงพยาบาล ถ้ามีอาการเหนื่อยให้สงสัยว่าโควิดลงปอดไว้ก่อน สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่าเหนื่อย ให้ลองเดินไปมา ลุกยืนจากท่านั่งสักสามครั้ง หรือกลั้นหายใจสัก 10-15 วินาที ถ้าทำแล้วเหนื่อย ก็แสดงว่าเหนื่อยจริงๆ ถ้าคนที่มีเครื่องวัดออกซิเจนแล้วเจอออกซิเจนต่ำกว่า 94 % ลงไปก็ถือว่าโควิดน่าจะลงปอด ให้ทำในข้ออื่น ๆ ด้วย
- นอนคว่ำ อย่าเดินไปมามากถ้าเหนื่อย ถ้านอนคว่ำไม่ได้ให้นอนตะแคง สำหรับคนท้องให้นอนตะแคงเอาด้านซ้ายลง
- พยายามขยับขาบ่อยๆ ถ้านอน เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
- ทานอาหารให้พอ ถ้าทานไม่ได้ให้ทานน้ำประมาณ 2-2.5 ลิตรต่อวัน ทานมากไปก็ไม่ดี ถ้าทานอาหารไม่ได้เลยควรทานน้ำเกลือแร่ เช่น ที่ใช้เวลาท้องเสีย น้ำเกลือแร่ที่ทานเวลาออกกำลังกาย ถ้าไม่มีให้ผสมเกลือสักช้อนชานึงกับน้ำตาลลงในน้ำแล้วดื่มได้
- ทานยาประจำตัวสม่ำเสมอ อย่าขาด กรณีที่เป็นเบาหวานควรตรวจน้ำตาลบ่อยๆ ถ้าต่ำควรงดอินซุลิน หรือยาทาน ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรวัดความดันบ่อยๆ ถ้าต่ำเช่น 90/60 ควรงดยา ถ้าทานยาขับปัสสาวะอยู่และทานน้ำไม่ได้ ให้งดยาไปก่อน
- เตรียมยาพาราเซตามอล ไทลินอล ไว้ทานเวลามีไข้ อย่าทานยากลุ่มอื่นโดยเฉพาะ NSAID เช่น ibuprofen, naproxen, mefenamic acid (ponstan), diclofenac (voltaren) เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาได้ ถ้าแพ้ยาพาราให้เช็ดตัวเอา ถ้าจะทานสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ก็ทานตามที่กำหนดที่ข้างฉลาก อย่าทานเกิน ท่านที่มีโรคตับห้ามทานเพราะอาจทำให้ตับวาย
- ถ้าเหนื่อยมาก อย่าไปเข้าห้องน้ำ เพราะการเบ่งถ่าย และลุกนั่งอาจทำให้เป็นลมหมดสติ หัวใจหยุดเต้นได้ ควรเข้าที่ข้างเตียงเลยดีที่สุด ใช้กระโถน กระดาษ หรืออะไรที่หาได้ ...ถ้าจะเข้าห้องน้ำ อย่าล็อกประตูเด็ดขาด และควรบอกคนอื่นๆในครอบครัวด้วย มีหลายรายที่เหนื่อยแล้วไปเข้าห้องน้ำ จากนั้นเป็นลม หัวใจหยุดเต้นครับ ท่านที่ท้องผูก ให้ทานยาระบาย ทานน้ำมากๆ การเบ่งอุจจาระจะทำให้หน้ามืดได้ในกรณีที่ออกซิเจนต่ำ
- หมั่นติดต่อกับครอบครัว ญาติ เพื่อนๆ เพื่อแจ้งอาการสม่ำเสมอ