"สกลนคร" จัดอบรมผู้เลี้ยงหมู เพื่อสร้างความเข้าใจ รู้ทัน ร่วมป้องกันโรค ASF ในสุกร
20 ส.ค. 2562, 14:02
วันที่ 20 สิงหาคม 2562 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่ห้องประชุม แกรนด์บอลรูม โรงแรมสกลแกรนด์พาเลซ จ.สกลนคร นายนพดล ไพฑูรย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม เรื่อง “เข้าใจ รู้ทัน ร่วมป้องกันโรค ASF ในสุกร” ให้กับผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกว่า 200 คน โดยความร่วมมือระหว่าง ปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) และบริษัท โซเอทิส (ประเทศไทย) โดยนายนพดล ไพฑูรย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่พบโรคดังกล่าวในพื้นที่ จังหวัดสกลนครติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์โรค ASF ในสุกรอย่างใกล้ชิด เพราะจังหวัดสกลนครเป็นจังหวัดหนึ่งของภาคอีสาน ที่มีเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยมาก อีกทั้งยังอยู่ใกล้ชายแดนประเทศเพื่อนบ้านที่รายงานพบโรค ASF แล้ว จึงสั่งการ และประสานความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน เพื่อร่วมกันวางแผนและรับมือ ป้องกันผลกระทบที่มีต่อผู้เลี้ยงหมู และอุตสาหกรรมปศุสัตว์ รวมถึงความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ “โรค ASF เป็นทั้งวิกฤติและโอกาส ของพี่น้องเกษตรกรเลี้ยงหมูทั่วประเทศ หากทุกฝ่ายร่วมมือกันป้องกันอย่างเข้มแข็ง ผลผลิตหมูพอเพียง ประชาชนมั่นใจบริโภคเนื้อหมูไทยปลอดภัย เกษตรกรมีกำลังใจเลี้ยงหมูต่อเนื่อง”
นางสาวเยาวนิตย์ บุรีรักษา ปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า โรค ASF ในสุกร เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คน เนื่องจาก เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาและวัคซีน ต้องทำลายหมูทิ้งหากพบอาการของโรค เกษตรกรรายย่อยในจังหวัดสกลนคร จะเลี้ยงหมูในฟาร์มระบบเปิด ดังนั้น การผนึกกำลังระหว่างปศุสัตว์จังหวัดและซีพีเอฟ อบรมให้ความรู้เกษตรกร ได้ทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง นำไปสู่การปฏิบัติตามแนวทาง “5 ข้อควรปฏิบัติและ 10 ข้อห้าม” ในการป้องกันโรค ASF ในสุกรอย่างเคร่งครัด เพื่อขจัดความเสี่ยงต่างๆ การทำความสะอาดยานพาหนะ การเปลี่ยนรองเท้าและจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้า-ออกฟาร์ม การควบคุมคนที่เข้ามาในฟาร์ม การซ่อมรั้วเพื่อป้องกันสัตว์พาหะเข้ามาสัมผัสกับหมูในฟาร์ม รวมถึงมีการจำลองเหตุการณ์ เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจในขั้นตอนการปฏิบัติ หากมีการแจ้งการเกิดโรค ปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร มีศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ASF พร้อมให้เกษตรกรได้ทราบถึงช่องทางการแจ้งข่าวสาร (Call Center) หรือ แอปพลิเคชั่น กรมปศุสัตว์ DLD 4.0 เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินการควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน มีการประกาศโรคระบาด ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชาและพม่าแล้ว
ด้าน นายธีระพงษ์ สมบัติหลาย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ยกระดับมาตรการป้องกันโรค ใน โรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มบริษัทและฟาร์มเกษตรกรในคอนแทร็คฟาร์ม จนถึงกระบวนการขนส่งตลอดทั้งห่วงโซ่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นการผลิตหมูที่มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน ขณะเดียวกัน การป้องกัน ASF ต้องอาศัยเครือข่ายความร่วมมือในทุกภาคส่วนและทุกระดับ ภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย และผู้บริโภคทั่วประเทศ การอบรมให้ความรู้เกษตรกรรายย่อยที่จังหวัดสกลนครนับเป็นจังหวัดที่ 15 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รู้ทันและเข้าใจถึงสถานการณ์โรค และดำเนินการป้องกันตามมาตรการของกรมปศุสัตว์อย่างเข้มงวด เพื่อให้เข้าถึงพี่น้องเกษตรกรรายย่อยมากที่สุด ซีพีเอฟยังร่วมกับ ปศุสัตว์อำเภอ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านลงพื้นที่ให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงระบบป้องกันโรค รวมถึงมอบน้ำยาฆ่าเชื้อและอุปกรณ์ป้องกันโรคแก่เกษตรกร เพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรกรป้องกันและเตรียมพร้อมในการควบคุมโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด