เครือข่ายประมงพื้นบ้าน 6 จังหวัดอันดามัน ร่วมกำหนดแผนงานการอนุรักษ์พะยูน
20 ส.ค. 2562, 14:24
20 ส.ค. 62 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่มูลนิธิอันดามัน อ.เมือง จ.ตรัง เครือข่ายประมงพื้นบ้านจาก 6 จังหวัดอันดามัน เปิดการประชุมร่วมกันกับตัวแทนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อร่วมกันกำหนดแผนงานการอนุรักษ์พะยูน และทรัพยากรชายฝั่งเครือข่ายอันดามัน รวมทั้งสร้างความยั่งยืนในการดูแลอนุรักษ์พะยุนร่วมกัน เนื่องจากพะยูนสามารถพบเห็นได้ในหลายจังหวัดฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะ จ.ตรัง และ จ.กระบี่ ที่พบพะยูนตายแล้วหลายตัว ซึ่งในที่ประชุมมีมติร่วมกันในการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันทั้งหมด 7 แผน เตรียมเสนออธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต่อไป ประกอบด้วย
1. มีแผนงานคุ้มครองเฝ้าระวังและพัฒนาพื้นที่ และเขตอนุรักษ์พะยูน และระบบนิเวศชายฝั่งโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้วยการจัดตั้งชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจราษฎรอาสาเฝ้าระวังทางทะเล (ฉก.สายตรวจพะยูน) และสนับสนุนการลาดตระเวนเฝ้าระวังเครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูนและพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน พร้อมรณรงค์เรื่องการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูน เนื่องจากพบว่ายังมีการลักลอบใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูน ได้แก่ อวนทับหิน อวนจมปลากระเบน และเบ็ดราไว ในพื้นที่แหล่งหญ้าทะเล และร่วมกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์เรื่องการอนุรักษ์พะยูน ในพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามัน
2. มีแผนงานลดขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนชายฝั่ง โดยการจัดอบรม ให้ความรู้ ตลอดจนสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้รู้ผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้โฟมบรรจุอาหาร และถุงพลาสติก โดยสาธารณสุขจังหวัด อาสาสมัครสาธารณะสุขหมู่บ้าน (อสม.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ทั้ง 6 จังหวัด พร้อมจัดอบรมเรื่องการจัดทำธนาคารขยะในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน จัดทำค่ายเยาวชนอนุรักษ์พะยูน และสร้างจิตสำนึกจัดการขยะร่วมกับโรงเรียนชายฝั่ง 6 จังหวัดอันดามัน
3. มีการกำหนดเขตอนุรักษ์หญ้าทะเลและสัตว์ทะเลหายาก (พะยูน โลมา เต่าทะเล) ในพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามัน ด้วยการวางทุ่นแนวเขตอนุรักษ์ และจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ พร้อมกติกาชุมชนในเขตอนุรักษ์
4. จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ แกนนำ/สมาชิก พร้อมอบรมเครือข่ายประมงพื้นบ้านเรื่องกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และอบรมพัฒนาอาชีพเสริมการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน 6 จังหวัด ตลอดจนร่วมประชุมเครือข่ายอันดามัน ปีละ 3 ครั้ง
5. มีการสำรวจและหารูปแบบที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง 6 จังหวัดอันดามัน
6. มีการบริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลนโดยชุมขน โดยการประชุมและจัดตั้งป่าชายชุมชนให้ถูกต้องตามกฎหมาย
7. มีการแก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลน ด้วยการสำรวจพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เพื่อกันให้เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่ 6 จังหวัด เพื่อจัดสรรที่ดินให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วนตามแนวทางคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมผลักดันให้เกิดการรับรองสิทธิที่อยู่อาศัยในที่ดิน โดยมีคณะกรรมการระดับพื้นที่ จังหวัด และนโยบาย รวมทั้งพัฒนาระบบข้อมูล แผนที่ทำมือ ประวัติชุมชน ตลอดจนส่งเสริมการจัดทำผังเมืองเฉพาะพื้นที่ และประสานความร่วมมือเพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัย