เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



กพท.ประกาศห้ามบินรับส่งผู้โดยสาร 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม มีผล 21 ก.ค.


18 ก.ค. 2564, 20:34



กพท.ประกาศห้ามบินรับส่งผู้โดยสาร 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม มีผล 21 ก.ค.




วันนี้ ( 18 ก.ค.64 ) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)  หรือ CAAT ได้ออกประกาศควบคุมเที่ยวบินเข้าออกพื้นที่สีแดงเข้ม มีผลตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับการยกระดับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคครั้งล่าสุดของรัฐบาล ตามที่ ศบค. ประกาศข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 28) และมีคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ 10/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ได้ออกประกาศเรื่องแนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศในเส้นทางการบินภายในประเทศในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ฉบับที่ 3) เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่ ศบค. กำหนด คือการชะลอหรือการยับยั้งการเดินทางเข้าออกพื้นที่สีแดงเข้ม โดยการห้ามสายการบินทำการบินรับส่งผู้โดยสาร เข้าหรือออกพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะสิ้นสุดไป หรือมีประกาศอื่นใดเพิ่มเติมกำหนดแนวปฏิบัติซึ่งมีใจความสำคัญ ดังนี้



1. ห้ามสายการบินที่ให้บริการผู้โดยสาร (Passenger Flight) ทำการบินเที่ยวบินภายในประเทศ (Domestic Flight) รับส่งผู้โดยสารเข้าหรือออกพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ในช่วงที่มีการระบาดสูงตามข้อกำหนด (ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) หรือ ศบค. ประเมินไว้เบื้องต้นเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน) เว้นแต่

          1.1 เป็นเที่ยวบินที่เกี่ยวข้องกับโครงการพื้นที่นำร่องเปิดประเทศ (Sandbox) หรือ
 
          1.2 เป็นกรณีอากาศยานที่ขอลงฉุกเฉิน (Emergency Landing) หรือขอลงทางเทคนิค (Technical Landing) โดยไม่มีผู้โดยสารลงจากเครื่อง หรือ

          1.3 มีความจำเป็น และได้รับอนุญาตจาก CAAT ซึ่งจะต้องแสดงหลักฐานเพื่อแสดงความจำเป็นนั้นเพื่อประกอบการขออนุญาต เช่น เพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ เพื่อการรับวัคซีน เป็นต้น

          โดยให้สายการบินรวมถึงสนามบินจัดเตรียมเอกสารรับรองความจำเป็นให้กับผู้ที่ต้องปฏิบัติงานขนส่งสาธารณะในสังกัดซึ่งได้รับยกเว้น เพื่อใช้แสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หากมีการตรวจสอบในการปฏิบัติงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ส่วนกรณีที่มีการยกเลิกเที่ยวบินและการรวมเที่ยวบิน ให้สายการบินแจ้งและดูแลผู้โดยสารอย่างเหมาะสม ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 สำหรับเที่ยวบินที่ให้บริการระหว่างประเทศ และเที่ยวบินที่ขนสินค้าโดยไม่มีผู้โดยสารจะไม่ได้รับผลกระทบจากประกาศนี้  

          2. สำหรับสนามบินและสายการบินที่ยังคงให้บริการได้ในช่วงเวลานี้ ให้ปฏิบัติดังนี้

          2.1 การบินรับส่งผู้โดยสาร ให้มีจำนวนผู้โดยสารได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของขีดความสามารถในการรับผู้โดยสารของอากาศยานที่ใช้ในเที่ยวบินนั้น ๆ และให้จัดที่นั่งภายในอย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงมาตรการเว้นระยะห่างเพื่อไม่ให้เกิดความหนาแน่นแออัด แต่ถ้าผู้โดยสารเดินทางมาด้วยกันสามารถให้นั่งติดกันได้


2.2 ก่อนเข้าพื้นที่สนามบิน ให้ตรวจคัดกรองบุคคลที่เข้ามาใช้บริการอย่างเข้มงวด โดยต้องตรวจสอบการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (Body Temperature Screening) ด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้ถูกตรวจวัด (Non-contact Infrared Thermometer) หากบุคคลนั้นไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า หรือวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบให้ปฏิเสธการให้เข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด

          2.3 ก่อนออกบัตรโดยสาร ให้สายการบินตรวจสอบเอกสารสำคัญของผู้โดยสารตามมาตรการป้องกันโรคของจังหวัดปลายทางอย่างเคร่งครัด หากตรวจสอบแล้วพบว่าเอกสารไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน อาจพิจารณาระงับการออกบัตรโดยสารแก่ผู้โดยสารนั้น

          2.4 ให้สายการบินตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้โดยสารโดยใช้เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้ถูกตรวจวัดก่อนขึ้นเครื่องที่สถานีต้นทาง หากวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที

          2.5 ก่อนออกจากพื้นที่สนามบิน ให้สนามบินตรวจคัดกรองผู้โดยสารอย่างเข้มงวดโดยการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้ถูกตรวจวัด หากวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที 

          2.6 ให้สนามบินติดตามดูแลให้ผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ ปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค. โดยเคร่งครัด

          2.7 ให้สนามบินและสายการบินเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามดูแลให้ประชาชนผู้มาใช้บริการปฏิบัติตามมาตรการในระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยว่าด้วยแนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินภายในประเทศในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) พ.ศ. 2564 ประกาศ ณ วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2564 โดยเคร่งครัด และมาตรการ แนวทาง หรือแนวปฏิบัติอย่างอื่นที่ ศบค. หรือรัฐบาลกำหนด 

          2.8 ให้สนามบินและสายการบินแจ้งเตือนผู้โดยสารกรณีเป็นผู้ป่วยยืนยันหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้งดการเดินทาง หากฝ่าฝืนอาจได้รับโทษตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

          นอกจากนี้ ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศในเส้นทางการบินภายในประเทศในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ฉบับที่ 2) ประกาศ ณ วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 และให้ใช้ประกาศเรื่องแนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศในเส้นทางการบินภายในประเทศในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ฉบับที่ 3) ประกาศ ณ วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 แทน

          สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ตระหนักถึงผลกระทบและความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงขอให้ผู้โดยสารทุกท่านโปรดเข้าใจและให้ความร่วมมือในมาตรการดังกล่าว โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้ประสานกับสายการบินเพื่อเตรียมการอำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนแผนการเดินทางของผู้โดยสารไว้แล้ว และเพื่อให้ผู้โดยสารมีเวลาเพียงพอในการดำเนินการ จึงขอผ่อนผันต่อ ศบค. เพื่อให้การดำเนินการนี้มีผลในวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือนจะเฝ้าติดตามของมาตรการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อนำการบินของไทยกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

หมายเหตุ : พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา ยะลา สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.