มท.1 บูรณาการทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาภัยแล้งทุกมิติ ลดผลกระทบภาวะขาดแคลนน้ำ
20 ส.ค. 2562, 16:22
วันนี้ ( 20 ส.ค.62 ) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมเตรียมการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นายนิพนธ์ บุญญามณี และนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยัง76 จังหวัด
ในการนี้ คณะองคมนตรี ได้แก่ นายพลากร สุวรรณรัฐ พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายานายจรัลธาดา กรรณสูต พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ นายอำพน กิตติอำพน พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาทและพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง ร่วมติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง พร้อมขอให้ทุกภาคส่วนน้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว และน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับแต่ละสภาพพื้นที่ มุ่งเน้นการวางแผนเผชิญเหตุและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างรอบด้าน โดยให้ความสำคัญกับการจัดสรรน้ำอุปโภคบริโภคถึงระดับครัวเรือน การเชื่อมโยงการบริหารการจัดน้ำในแต่ละลุ่มน้ำ การดูแลแหล่งกักเก็บน้ำในระดับหมู่บ้าน ทั้งการขุดลอกคูคลองและสระน้ำ การกำจัดวัชพืชและโคลนตมในคลองส่งน้ำ การจัดหาภาชนะกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ประจำครัวเรือน อีกทั้งประสานจัดทำฝนหลวงเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด
พลเอก อนุพงษ์ กล่าวต่อไปว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้บูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ภายใต้กฎหมายและแผนว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยผ่านกลไกการปฏิบัติของหน่วยงานทุกภาคส่วน
แบ่งเป็น 4 ด้าน ดังนี้
1) การคาดหมายและพยากรณ์สภาพอากาศ เพื่อติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัย ประกอบด้วย กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ
และการเกษตร และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ
และภูมิสารสนเทศ (GISTDA)
2) การบริหารจัดการน้ำ เพื่อวางแผนการใช้น้ำในด้านต่างๆ ประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
3) การปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งให้ความสำคัญกับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก ประกอบด้วย การประปาส่วนภูมิภาค กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในส่วนของน้ำเพื่อการเกษตร ได้บริหารจัดการน้ำตามแผนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
4) การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ได้แก่ กระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ
โดยบูรณาการแก้ไขปัญหาภัยแล้งครอบคลุมทุกมิติ ติดตามข้อมูลสภาพอากาศ ปริมาณน้ำต้นทุน และชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงภัยจำแนกเป็น น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ และน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อวางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ รวมถึงจัดเตรียมทรัพยากรให้พร้อมรับมือภัยแล้ง ทั้งเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย รถบรรทุกน้ำ และเครื่องสูบน้ำ
พลเอก อนุพงษ์กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและช่วยเหลือผู้ประสบภัยระยะเร่งด่วน ว่า ได้เน้นย้ำให้จัดหาน้ำจากทุกแหล่งรองรับการใช้น้ำ ระดมเครื่องจักรกลสาธารณภัยผันน้ำดิบเข้าสู่ระบบการผลิตน้ำประปา ขุดลอกแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ขุดเจาะและเป่าล้างบ่อบาดาล ควบคู่กับการจัดสรรน้ำสนับสนุนทุกพื้นที่เสี่ยงภัย มุ่งดูแลด้านน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก โดยจัดรถบรรทุกน้ำนำน้ำไปเติมยังถังน้ำกลางประจำหมู่บ้านและจุดแจกจ่ายน้ำตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง กรณีเกิดความเสียหายด้านการเกษตร ประมง และปศุสัตว์ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ให้จำแนกความเสียหายตามประเภทและช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยด่วน ที่สำคัญ ได้กำชับให้สร้างการรับรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะข้อมูลสถานการณ์น้ำ แผนการจัดสรรน้ำ มาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ รวมถึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้น้ำ เพื่อมิให้เกิดปัญหาการแย่งน้ำ นอกจากนี้ ยังได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำไว้ล่วงหน้า เน้นการกักเก็บน้ำจากปริมาณฝนในช่วง 1 – 2 เดือนข้างหน้า เพื่อสำรองน้ำให้เพียงพอต่อการใช้น้ำในปี พ.ศ. 2563
ท้ายนี้ ขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำที่มีปริมาณจำกัดอย่างประหยัด คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เชื่อมั่นว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะทำให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในทุกพื้นที่